สิ่งหนึ่งที่ทำให้กล้องโพลารอยด์ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมออาจเป็นเพราะ ภาพที่ถ่ายออกมาเป็นแผ่นให้เราเห็นได้ทันที อีกทั้งเรายังไม่รู้ด้วยว่าภาพที่เราถ่ายออกมาจะเป็นอย่างไร 

และอย่างที่ทราบกันดีว่าฟิล์มจากกล้องโพลารอยด์นั้นค่อนข้างแพง ตลับนึงมี 10 ใบ ตกราคาก็ประมาณใบละ 20 กว่าบาท กว่าจะกดชัตเตอร์สักทีก็ต้องคิดแล้วคิดอีก บางภาพถ่ายออกมาก็มืดหรือสว่างจนเกินไป ทำให้เสียฟิล์มเหล่านั้นไปฟรี ๆ เลย เราก็เลยรวบรวมประสบการณ์การถ่ายภาพโพลาลอยด์แบบเสีย ๆ ที่เคยได้ประสบพบเจอกับตัวเอง พร้อมวิธีแก้ไข เพื่อที่ว่าในครั้งต่อไปจะได้ไม่ถ่ายภาพออกมาเสียอีก

**เน้นพูดถึงโพลาลอยด์ instax mini 8,9,25 เป็นหลัก**

1.อย่าเปิดฝาใส่ฟิล์ม หากฟิล์มที่ใส่ยังไม่หมด

สำหรับมือใหม่ที่กำลังหัดใช้โพลารอยด์ จะต้องไม่ลืมว่าหากในกล้องมีฟิล์มเหลือ ห้าม เปิดฝาใส่ฟิล์มเด็ดขาดเพราะจะทำให้ฟิล์มแผ่นบนสุดโดนแสง ถ่ายออกมาจะเป็นสีขาวทั้งใบ แต่แม้ว่าจะเสียฟิล์มแผ่นบนสุดไป แผ่นอื่น ๆ ก็ยังใช้ได้อย่าเพิ่งทิ้ง

2.ฟิล์มลวดลายและฟิล์มสี 

หากเบื่อฟิล์มกรอบขาวก็ลองเปลี่ยนมาใช้ฟิล์มที่มีลวดลาย หรือฟิล์มกรอบสีกันดู ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีให้เลือกสรรมากมาย แม้ว่าราคาจะสูงกว่าสักหน่อย แต่ก็ทำให้ภาพที่ออกมาดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แนะนำว่าหากอยากเปลี่ยนไปใช้ฟิล์มที่มีลวดลายก็ใช้แผ่นฟิล์มเก่าให้หมดตลับก่อนดีกว่าเนอะ

3.แสงสว่างกับภาพถ่าย

บ่อยครั้งเวลาที่ถ่ายภาพโพลารอยด์แล้วมักไม่เป็นดั่งใจ ภาพที่ถ่ายออกมามักมืดหรือสว่างจนเกินไป นั่นเป็นเพราะ “แสง” การถ่ายภาพโพลารอยด์แสงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

หากเป็นกล้อง instax mini 8, 9 สามารถปรับโหมดภาพถ่ายได้ 5 โหมด เวลาที่เปิดกล้อง ให้ลองสังเกตไฟที่ตัวปรับโหมด ไฟขึ้นที่โหมดไหนนั่นเหมือนเป็นการแนะนำโหมดให้เรา ให้นำมือหมุนตัวปรับโหมดไปที่โหมดนั้น ๆ ได้เลย

  • รูปบ้าน – ถ่ายภาพในอาคารที่แสงน้อย
  • รูปก้อนเมฆ – ถ่ายกลางแจ้งที่แสงน้อย ๆ สลัว ๆ
  • รูปดวงอาทิตย์ – ถ่ายกลางแจ้งที่แดดไม่แรงมาก
  • รูปดวงอาทิตย์จ้า – ถ่ายกลางแจ้งที่แดดแรงมากๆ
  • Hi-key – ถ่ายภาพในที่มืด (โหมดนี้จะยิงแสงให้ภาพขาวมาก ๆ )

ถ้าเป็นกล้อง instax mini 25 กล้องจะคำนวณค่าแสงให้เอง ไม่ต้องหมุนปรับเลนส์ให้ยุ่งยาก แต่ก็มีโหมดเพิ่มเติมให้ถ่ายภาพได้สนุกขึ้น อย่างเช่น

  • รูปภูเขา – ถ่ายภาพวิวกว้าง ๆ
  • โหมด Light – ใช้เพิ่มแสงเวลาที่ถ่ายในที่ ๆ มีแสงน้อย
  • โหมด Dark – ทำให้ภาพมืดลง

4. ดูตำแหน่งภาพให้ดี

การจัดวางตำแหน่งของภาพที่ดี เลือกมุมถ่ายภาพดี ๆ ให้ได้ background สวยเพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ ต้องคำนึงถึงจุดโฟกัสด้วย อย่างการที่ไม่ยืนไกลจากวัตถุจนเกินไป เพื่อให้ภาพของคุณได้องค์ประกอบที่สวยงาม เพราะฉะนั้นเล็งภาพให้ดีก่อนกดชัตเตอร์ พึงระลึกเอาไว้เสมอว่า หากถ่ายออกมาแล้วภาพเสียก็จะไม่สามารถกลับไปแก้ไขภาพ ๆ นั้นได้อีก อีกทั้งยังเสียทั้งเงินและฟิล์มไปฟรี ๆ อีกด้วย

5.ถ่านใส่กล้อง

แม้ว่า instax mini 8, 9 จะใช้ถ่าน AA แต่ก็ต้องเป็น ถ่านอัลคาไลน์เท่านั้นนะ เคยใส่ถ่านธรรมดาไป นึกว่ากล้องพังซะอีก!! (ส่วน instax mini 25 ใช้ถ่าน CR2 จ้า)

6.ภาพที่มืดหรือสว่างจนเกินไป

วิธีนึงที่จะสามารถแก้ไขภาพที่มืดหรือสว่างจนเกินไป ก็คือการแสกนภาพเข้าคอมพิวเตอร์ แล้วปรับสีภาพจาก Photoshop ให้สว่างกว่าเดิม ..แม้ว่าจะแก้ไขภาพที่มาจากแผ่นฟิล์มต้นฉบับไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังได้ภาพที่เคยถ่ายจากโพลารอยด์มีเก็บไว้เป็นไฟล์ภาพแทน

7. ภาพเสียอย่าทิ้ง!

เวลาที่ถ่ายภาพโพลารอยด์ออกมาขาวสนิท แผ่นภาพโพลารอยด์ที่เสียไปแล้วแบบนี้ก็ยังมีประโยชน์อยู่นะ นำมาทำภาพ DIY ได้ง่าย ๆ เพียงแค่กรีดที่บริเวณหัวแผ่นภาพฟิล์มโพลารอยด์ (อย่างเบามือ) เอาไว้สำหรับเป็นช่องใส่ภาพที่เราต้องการลงไปแทน ก็จะได้ภาพโพลารอยด์ใบใหม่ เสมือนเราถ่ายออกมาจากโพลารอยด์ได้เลยทีเดียว

8.กล่องใส่ฟิล์ม

กล่องฟิล์มโพลารอยด์เวลาถ่ายภาพหมดแล้ว สามารถนำมาเป็นกรอบรูปวางตกแต่งห้อง หรือนำภาพที่เหลือมาเก็บไว้ที่นี่ได้

9.อย่ากักตุนฟิล์ม

ปัญหาที่ผู้ใช้งานโพลารอยด์หลาย ๆ คนพบเจอก็คือ การซื้อฟิล์มโพลารอยด์ตุนเอาไว้เยอะ ๆ เมื่อนำมาเก็บไว้นาน ๆ เข้า เวลาจะนำออกมาถ่ายภาพที ฟิล์มหมดอายุ (ดูได้ที่ข้างกล่อง) ทำใหเคุณภาพของภาพที่ถ่ายออกมาลดลง สีเพี้ยนไปจากเดิม ก็เลยอยากจะแนะนำว่าจะใช้ตอนไหนก็ค่อยซื้อมาใช้จะดีกว่า 

ภาพจากโพลารอยด์จะทำให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากกล้องดิจิตอลและกล้องฟิล์ม อีกทั้งยังเป็นภาพที่มีเพียงใบเดียวในโลก หยิบขึ้นมาดูเมื่อไรก็หวนนึกถึงภาพเหตุการณ์ในอดีต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเก็บภาพความทรงจำได้ดีเลยทีเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *