Ohrwurm /’oː:rˌ vʊrm/คำภาษาเยอรมันที่ประกอบด้วย 2 คำ อย่างคำว่า das Ohr แปลว่า หู และ der Wurm แปลว่า หนอน เมื่อรวมกันคำ ๆ นี้มีความหมายถึงเพลงที่วนซ้ำอยู่ในหู

Ohrwurm หรือที่เรียกว่า Stunt Song Syndrome [SSS] เป็นเรื่องปกติในคนทั่วไป โดยในปี 1979 จิตแพทย์ Cornelius Eckert เป็นผู้เริ่มขนานนามถึงคำ ๆ นี้ จากการสำรวจบพบว่าผู้คน 90% ประสบกับอาการนี้ ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้พบเจอถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ

Ohrwurm เป็นท่อนเพลงที่วนซ้ำ โดยปกติจะมีความยาวประมาณ 20 วินาที ซึ่งจะเข้ามาในการรับรู้ของมนุษย์โดยอัตโนมัติและวนซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ  ลักษณะทางดนตรีบางอย่างที่ทำให้เพลงมีแนวโน้มที่จะติดหู เช่น มีท่อนซ้ำ บางเพลงมีโน้ตที่เล่นในระยะเวลานานกว่าปกติ หรือระยะห่างระหว่างโน้ตที่น้อยลง นอกจากนี้ เพลงที่กระตุ้นอารมณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หรือพวกเพลงที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำใดความทรงจำหนึ่ง มักจะเป็นเพลงที่ติดอยู่ในหัวของคนเรา

นอกจากนี้เพลงที่เกิดซ้ำ ๆ และผุดขึ้นมาในใจโดยที่เราไม่ได้สนใจเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเพลงที่ติดอยู่ในหัวจะปรากฏขึ้นมาเองหรือบางทีก็มาจากการที่อารมณ์ถูกกระตุ้น การได้ยินทำนองเพลงตามหลักสรีรวิทยาแล้ว เพลงที่ติดอยู่ในหูมีความเกี่ยวข้องกับความทรงจำ ข้อมูลการได้ยิน เป็นเหมือนเครื่องช่วยจำที่แข็งแกร่ง ในทางจิตวิทยา Ohrwurm ถือว่าเป็น cognitive itch ซึ่งวิธีเดียวที่จะสนองความรู้สึกได้คือ การร้องเพลงซ้ำแล้วซ้ำอีกในใจ (เหมือนกับการเกาอาการคัน) เพราะยิ่งพยายามหยุดนึกถึงเพลงมากเท่าใด แรงกระตุ้นก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

มีการศึกษาที่ใช้การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กเชิงฟังก์ชันได้พิจารณาถึงโครงสร้างของสมอง และผลลัพธ์ที่ออกมาก็สมเหตุสมผลในแง่ของกระบวนการที่อธิบายไว้ข้างต้น เปลือกสมองส่วนการได้ยิน (auditory cortex) มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมองกลีบขมับ (temporal lobe) ซึ่งสนับสนุนการรับรู้ทางดนตรี และการเชื่อมต่อระหว่างเปลือกสมองกับบริเวณกลีบขมับส่วนลึก อย่างเช่น ต่อมฮิปโปแคมปัส (hippocampus) หรือรอยนูนรอบฮิปโปแคมปัส (parahippocampal gyrus) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ มีความสำคัญในกระบวนการที่เรียกว่า การเข้ารหัสและการเรียกค้นหน่วยความจำ การวนซ้ำของเสียงมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการเก็บบางสิ่งบางอย่างไว้ในใจ เช่นหน่วยความจำที่ใช้งานชั่วคราวในหนึ่งวินาที จึงมีบางส่วนในสมองที่สนับสนุนการทำงานของดนตรี รวมถึงความทรงจำ ความสนใจ การเก็บบางสิ่งไว้ในหัว และความจำเพื่อใช้งาน โดยมีการเชื่อมต่อกับการแสดงออกทางอารมณ์ของสมอง เช่น สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” รวมไปถึงแรงจูงใจจากสิ่งเร้าและอารมณ์ด้านลบ และยังมีสมองส่วน ventral striatum หรือ nucleus accumbens เป็นสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการให้รางวัลและอารมณ์ด้านบวก สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบทั้งหมดที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับ Ohrwurm 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเชื่อมต่อในสมองของเราที่เกี่ยวข้องกับการติดอยู่ ส่งผลให้ความทรงจำเกี่ยวกับดนตรีบรรเลงอยู่ในหัวของคนเราโดยอัตโนมัติ งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า คนที่มีปัญหาเรื่องความจำในการทำงาน เช่น ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้น อาจมีอาการ Ohrwurm น้อยกว่า แต่ในทางตรงกันข้ามเพลงที่ติดอยู่ในหูจะส่งผลเด่นชัดกับผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงได้

ยกตัวอย่างผู้ป่วยชายวัย 40 ปีที่เป็นโรค OCD พูดถึงเพลงน่ารำคาญในช่วงที่มีความเครียด เพลงเหล่านี้ก่อกวนความคิดของเขาทั้งกลางวันและกลางคืน และทำให้นอนไม่หลับอย่างรุนแรง ยิ่งเขาพยายามหยุดคิดก็ยิ่งแย่ลง เพลงสั้น ๆ เล่นซ้ำอยู่ในหัวของเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งปกติแล้วจะเป็นเพลงที่เขาเกลียด จนกระทั่งชายคนนี้หมดแรงและชีวิตของเขาได้รับผลกระทบทางลบจาก Ohrwurm ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติ แต่การเยียวยาสำหรับอาการนี้ยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่ที่พบเจอปัญหานี้

ในการกำจัด Ohrwurm ให้ลองเบี่ยงเบนความสนใจไปที่เรื่องอื่น พยายามอย่าเพ่งความสนใจไปที่เพลงในหัวมากเกินไป จะได้ไม่ไปโฟกัสอยู่กับเพลง นอกจากนี้ให้ฝึกสติให้มากขึ้น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน หรืออีกหนึ่งวิธีคือ ให้เปิดเพลงจริง ๆ ควบคู่ไปเลย เพราะมันสามารถแทนที่สิ่งที่ติดอยู่ในหัวได้

Links to related Sites: 

- A Word for a Tune Stuck in Your Head, latimes
- Stuck song syndrome, ncbi
- The meaning of “der Ohrwurm”, yourdailygerman
- Brain scientist explains earworms, news.harvard

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *