ของหวานต้นตำรับจากธรรมชาติอย่างเหล่าบรรดาผลไม้ที่มีรสชาติหวานต่าง ๆ นั้นอุดมไปด้วยสารต้านการอักเสบ ซึ่งมีความสำคัญในการปกป้องร่างกายของเราจากโรคหัวใจ เบาหวาน รวมไปถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่บางชนิด
การทานผลไม้หลากหลายชนิดอย่างน้อยหนึ่งถ้วยครึ่งถึงสองถ้วยทุกวันจะสามารถกระตุ้นการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระได้ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ของการทานผลไม้ก็คือการเลือกทานผลไม้ตามฤดูกาล เช่น เลือกทานองุ่นและผลไม้เมล็ดแข็ง (stone fruits) ในฤดูร้อน, เลือกแอปเปิลและลูกแพร์ในฤดูใบไม้ร่วง, เลือกลูกพลับและทับทิมในฤดูหนาว, และเลือกผลไม้ตระกูลส้มและเชอร์รีในฤดูใบไม้ผลิ
แม้ว่าผลไม้ทุกชนิดมักจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่ป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ แต่ก็มีผลไม้บางชนิดที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงเรื่องสารอาหารที่มีประโยชน์ในการต้านการอักเสบ
1.เบอร์รี (Berries)
ตั้งแต่สตรอว์เบอร์รีและแบล็กเบอร์รี ไปจนถึงแครนเบอร์รีและบลูเบอร์รี ผลไม้ที่มีลักษณะเหมือนอัญมณีเหล่านี้มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบโดยเฉพาะ นอกจากจะมีไฟเบอร์และวิตามินซีแล้ว ผลเบอร์รียังมีสารพฤกษเคมีจากพืช อย่างเช่นแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และกรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) ที่อาจอยู่เบื้องหลังประโยชน์ต่อสุขภาพของผลเบอร์รี โดยจากการศึกษาที่ได้เชื่อมโยงการบริโภคเบอร์รีที่เพิ่มขึ้นกับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ, โรคอัลไซเมอร์, และเบาหวานที่ลดลง
2.แอปเปิล (Apples)
แอปเปิล ผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่น่าเหลือเชื่อ เป็นผลไม้ที่ถูกแนะนำให้ทานวันละหนึ่งผลต่อวัน จากการศึกษาในผู้หญิง 35,000 คน พบว่าการบริโภคแอปเปิลร่วมกับลูกแพร์นั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจที่ลดลง จากผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ส่วนประกอบที่เป็นดาวเด่นของแอปเปิลอย่างไฟเบอร์, วิตามินซี, เพคติน, และโพลีฟีนอล มีส่วนเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านการอักเสบและการเพิ่มขึ้นของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้
3.ผลไม้เมล็ดแข็ง (Stone fruits)
ตัวอย่างของ Stone fruits หรือผลไม้เมล็ดแข็งอย่างเช่น เชอร์รี, ลูกพืช, แอปริคอท (Apricots), และพลัม ซึ่งประกอบด้วยไฟเบอร์, วิตามินซี, โพแทสเซียม, และไฟโตเคมีคอลหลากหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับสีของผลไม้เมล็ดแข็ง โดยยกตัวอย่างเชอร์รีที่มีความเชื่อมโยงกับค่าน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยที่ลดลง และทำให้ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาบางชิ้นที่ได้แนะนำว่า การทานเชอร์รีช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกายหลังการออกกำลังกาย และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเกาต์ได้ โดยสารประกอบฟีนอลจำนวนมากในเชอร์รี ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าช่วยลดการอักเสบนั้นอาจอยู่เบื้องหลังของประโยชน์ทั้งหมดนี้
4.องุ่น (Grapes)
ผลไม้ที่เต็มไปด้วยน้ำนี้อุดมไปด้วย ไฟเบอร์, วิตามินซี, วิตามินเค, และไฟโตเคมิคอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) สามารถพบได้ในองุ่นแดง จึงไม่น่าแปลกใจที่การดื่มไวน์แดงในระดับปานกลางนั้นเกี่ยวข้องกับสุขภาพหัวใจ ผลจากการศึกษานานาชาติ 7 ปีของหญิงวัยกลางคน 3,300 คนที่มีการบริโภคไวน์ในระดับปานกลาง กับระดับการอักเสบที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่ดื่มไวน์หรือดื่มน้อยกว่า แต่ในบางการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ ได้กล่าวถึงประโยชน์เหล่านี้ว่ายังมีประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ (รวมถึงไวน์) ในระดับปานกลาง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ หากคุณชื่นชอบไวน์อยู่แล้ว ให้ดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ (สูงสุดหนึ่งแก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และสองแก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย)
5.ผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus)
ส้ม, เกรปฟรุต, เลมอน, และมะนาวเขียวที่มีชื่อเสียงว่าอุดมไปด้วยวิตามินซี อีกทั้งยังประกอบไปด้วยไฟเบอร์, โพแทสเซียม, แคลเซียม, วิตามินบี, ทองแดง, และไฟโตเคมิคอลที่ต้านการอักเสบ อย่างเช่นฟลาโวนอยด์และแคโรทีนอยด์ แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับผลไม้ตระกูลส้มในมนุษย์เพียงเล็กน้อย แต่สารอาหารที่พบในผลไม้กลุ่มนี้ก็แสดงให้เห็นว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันหัวใจ เป็นต้นว่า การทำให้คอเลสเตอรอลในเลือด, น้ำตาลในเลือด, และการทำงานของหลอดเลือดดีขึ้น
6.ทับทิม (Pomegranates)
เมล็ดทับทิมเล็ก ๆ เหล่านี้ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งวิตามินซี, วิตามินเค, โพแทสเซียม, ไฟเบอร์, และไฟโตเคมิคอลที่มีศักยภาพอย่างแอนโธไซยานินและเรสเวอราทรอล ซึ่งสารอาหารเหล่านี้อาจอยู่เบื้องหลังประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทานทับทิม จากรีวิวงานวิจัยเกี่ยวกับทับทิมในปี 2020 พบว่า ผลไม้ชนิดนี้มีศักยภาพในการช่วยรักษาระดับความดันโลหิต, คอเลสเตอรอล, และน้ำตาลในเลือดได้