เทศกาลกินเจ หรือ เทศกาลเทพเจ้าเก้าจักรพรรดิ (九皇爷诞) เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญตามปฏิทินจันทรคติของจีน เทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองโดยชาวเปอรานากัน (Peranakan) หรือลูกหลานชาวจีนซึ่งตั้งรกรากอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่แล้วการถือศีลกินเจมักพบได้ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปลายเดือน 8 ตามจันทรคติจนถึงวันที่ 9 หรือ 10 ของเดือน 9 ตามจันทรคติ โดยจะมีระยะเวลาอย่างน้อย 9-10 วัน โดยเทศกาลนี้ในแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่
เทศกาลเทพเจ้าเก้าจักรพรรดิมีการเฉลิมฉลองในประเทศต่าง ๆ มากมาย ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดจากจังหวัดฝูเจี้ยนของจีน โดยจีนโบราณที่เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาเต๋า เริ่มต้นขึ้นจากชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทั้งสามประเทศนี้จึงเป็นที่ที่คุณจะได้พบกับเทศกาลถือศีลกินเจที่มีการเฉลิมฉลองที่เด่นชัดที่สุด
บางความเชื่อเล่าว่าเทศกาลนี้มีรากฐานมาจากจักรวาลวิทยาและศาสนาของจีนโบราณ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การบูชากลุ่มดาวเหนือในลัทธิเต๋าและพุทธศาสนา เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนมีอายุยืนยาวและรอดจากภัยพิบัติและความโชคร้าย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวอื่น ๆ ในแต่ละประเทศที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทพเจ้าจักรพรรดิทั้งเก้า
ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศไทยหรือในต่างประเทศที่มีเทศกาลกินเจ ในช่วงเทศกาลนี้เราจะได้ยินเสียงระฆังสวดมนต์และเสียงสวดมนต์จากนักบวชในวัดอยู่ตลอดเวลา ผู้คนที่ศรัทธาล้วนไปศาลเจ้า ทำบุญ รับประทานอาหารเจ และสวดมนต์ภาวนาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันขึ้น 9 ค่ำ ตามศาลเจ้าจะจัดพิธีอัญเชิญและต้อนรับจักรพรรดิทั้งเก้า เชื่อกันว่าการเสด็จมาของเทพเจ้าจะเกิดขึ้นผ่านทางน้ำ ขบวนแห่จึงจัดขึ้นจากวัดไปยังชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำตามสัญลักษณ์ความเชื่อนี้ ผู้ศรัทธาจะแต่งกายด้วยชุดสีขาว ถือธูปและเทียนรอรับเทพแห่งสวรรค์นั่นเอง
เทศกาลกินเจในประเทศไทย
ในช่วงเทศกาลกินเจ ตามร้านอาหารต่าง ๆ ที่ขายอาหารเจจะปักธงสีเหลืองและเขียนด้วยตัวหนังสือสีแดงว่า “เจ” หรือ “ไจ” ซึ่งหมายถึง ไม่มีของคาว เพื่อบอกว่าร้านนั้น ๆ กำลังขายอาหารเจ นอกจากนี้ยังสามารถรับประทานอาหารเจได้ในโรงเจที่มีการทำทานเลี้ยงอาหารฟรีให้แก่ผู้ที่มาทำบุญอีกด้วย
ในประเทศไทย เทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองทั่วทั้งประเทศ แต่งานเฉลิมฉลองที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 35% ของประชากรในภูเก็ตเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน จึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งใหลไปที่นั่น นอกจากนี้แต่ละศาลเจ้ายังมีพิธีใหญ่ ๆ หลายพิธี เช่น พิธีแห่พระรอบเมือง (อิ้วเก้ง), พิธีลุยไฟ (โก้ยโห้ย), พิธีสะเดาะเคราะห์ (โก้ยห่าน), พิธีขึ้นบันไดมีด และเดินสะพานตะปู
ผู้ที่มาร่วมงานควรงดรับประทานเนื้อสัตว์ น้ำมันสัตว์ และงดรับประทานผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุ้ยช่าย และใบยาสูบ ผู้ที่กินเจสามารถรับประทานอาหารได้จากที่บ้าน ศาลเจ้าหรือวัดจีนใกล้เคียง
ในวันที่ 9 ของเทศกาลถือว่าเป็นวันที่ดึงดูดผู้ศรัทธาจำนวนมากมาร่วมส่งเทพเจ้ากลับบ้าน นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติหากต้องการถือศีลกินผักอีกด้วย
ข้อปฎิบัติในการเข้าร่วมเทศกาลถือศีลกินผัก
- ต้องรักษาร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงเทศกาล
- ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องครัวทั้งหมดและเก็บแยกจากผู้ที่ไม่เข้าร่วมงาน
- สวมใส่เสื้อผ้าสีขาวในช่วงเทศกาล
- ประพฤติปฏิบัติตนให้ดีทั้งทางกายและจิตใจ ไม่คิดร้ายต่อคนอื่น ไม่ทำร้ายคนและสัตว์
- ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และงดการรับประทานผักกลิ่นฉุน
- งดกิจกรรมทางเพศในช่วงเทศกาล
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล
- ผู้ที่ไว้ทุกข์และสตรีมีครรภ์ไม่ควรเข้าร่วมงาน
เทศกาลกินเจในสิงคโปร์
ในสิงคโปร์มีพิธีกรรมสำคัญคือพิธีรับและส่งเทพเจ้าเก้าจักรพรรดิริมทะเลหรือริมแม่น้ำลำคลอง ซึ่งรวมไปถึงที่ East Coast Park, Changi Beach และ Punggol Marina วัดทั้งหมดจะส่งเทพเจ้าจักรพรรดิทั้งเก้าในวันที่ 9 เดือน 9 ตามจันทรคติ โดยจะทำพิธีรับ-ส่งเทพเจ้าในเวลากลางคืน มีแค่บางวัดที่ทำพิธีในเวลากลางวัน เช่น ที่วัด Jiu Huang Gong ที่ถนน Arumugam
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของเทศกาลนี้คือการเน้นเรื่องความบริสุทธิ์ ดังนั้นที่วัดแต่ละแห่งจึงมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่อย่างน้อยสองสัปดาห์ก่อนเทศกาล ในพิธีกรรมสำคัญเช่นนี้จะมีการรับประทานอาหารเจ งดเนื้อสัตว์ ไข่ นม งดอาหารกลิ่นฉุนอย่างกระเทียมและหัวหอม รวมถึงทำตามข้อปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยบางคนเลือกที่จะเริ่มต้นรับประทานอาหารเจอย่างเร็วที่สุด 1 เดือนหรือก่อนหน้านั้น ในช่วงเทศกาลผู้ศรัทธาจะแต่งกายด้วยชุดสีขาวหรือสีเหลือง เนื่องจากสีขาวและเหลืองนั้นเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันวัดบางแห่ง โคมสีแดงจะถูกแทนที่ด้วยโคมหรือเทียนสีเหลือง
พิธีกรรมทางศาสนาของเทศกาลกินเจมีการจุดโคมเก้าดวง (九天灯) ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มงานเทศกาล โดยปกติจะทำในวันที่รับเทพเจ้าเก้าจักรพรรดิ มีการจุดตะเกียงน้ำมัน 9 ดวงบนเสาไม้ไผ่ทั้งก่อนและหลังการรับเทพเจ้า (วัดบางแห่งเริ่มใช้เสาไม้และเหล็กเพราะหาเสาไม้ไผ่ได้ยาก) มีการทำความสะอาด และเติมดวงไฟใหม่วันละสองครั้ง (ช่วงตี 5 ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และครั้งที่สองคือตอน 5-6 โมงก่อนพระอาทิตย์ตก) โคมไฟทั้ง 9 ดวงจะถูกลดระดับลงในวันที่ 10 หลังจากการส่งเทพเจ้าจักรพรรดิทั้งเก้ากลับ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเทศกาลนี้คือ เรือมังกร ที่เรียกว่า หลงชวน (龙船) หรือเรือพิธีกรรม (法船) เรือเหล่านี้ทำจากกระดาษและเต็มไปด้วยเกลือ น้ำมัน ข้าว กระดาษไหว้เจ้า ธูป และสิ่งของอื่น ๆ ก่อนที่จะถูกส่งออกไปเผาในทะเลระหว่างพิธีส่งตัว ผู้นับถือศรัทธาจะได้เขียนชื่อตนเองและชื่อสมาชิกในครอบครัวติดไว้บนเรือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการส่งและกำจัดความโชคร้ายออกสู่ทะเล
เทศกาลไทปูซัม (Thaipusam)
นอกจากนี้ในประเทศมาเลเซียและสิงค์โปร์ยังมี เทศกาลไทปูซัม (Thaipusam) ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองของคนเชื้อสายฮินดู ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเทศกาลกินเจที่จังหวัดภูเก็ตในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เทศกาลกินเจที่จังหวัดภูเก็ตจะมี “ม้าทรง” คือ คนที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้า มีการแสดงอภินิหารอย่างการแทงหรือเสียบเหล็กตามร่างกาย และแห่ไปทั่วเมือง นอกจากนี้ยังมีอภินิหารอื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น เช่น พิธีลุยไฟ, พิธีสะเดาะเคราะห์, พิธีขึ้นบันไดมีด เป็นต้น
เช่นเดียวกับเทศกาลไทปูซัมที่ชาวมาเลและสิงค์โปร์เชื้อสายฮินดูจะแต่งกายด้วยชุดสีเหลืองแล้วตั้งขบวนแห่ไปรอบเมือง ร่างทรงที่ถูกแห่อยู่ในขบวนจะแสดงอภินิหาร มีการแทงและเจาะร่างกายตัวเอง พร้อมทั้งมีเสียงสวดมนต์ดังไปทั่วบริเวณ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมไฮไลท์บนท้องถนนเช่น การเดินลุยไฟ รวมถึงงดเว้นการรับประทานอาหารบางชนิด ประพฤติตนให้ดีทั้งกาย วาจา ใจ และงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเทศกาลเช่นเดียวกับเทศกาลกินเจในประเทศไทย
ข้อปฏิบัติช่วงถือศีลกินเจ + ไขข้อสงสัยทำไมในประเทศจีนไม่มีเทศกาลกินเจ
Links to related Sites: - Vegetarian Festival, thegreatgastro - All About Vegeterian Festival, unacademy - phuketvegetarian - The Nine Emperor Gods Festival, roots - Thailand Vegetarian Festival in Phuket, manvsclock
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.