เทศกาลปีใหม่ของญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า โอโชงัตสึ [お正月] เป็นเทศกาลวันหยุดที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม ถึงวันที่ 3 มกราคม สำหรับชาวญี่ปุ่นการกระทำแรกของปีใหม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ คนญี่ปุ่นนิยมเริ่มต้นปีด้วยการทำอะไรที่เป็นมงคล อย่างเช่น การไปศาลเจ้าชินโตหรือวัดพุทธเมื่อขึ้นปีใหม่ หรือที่เรียกว่า ฮัตสึโมเดะ (初詣), พูดถึงความฝันครั้งแรกในคืนวันที่ 1 มกราคม เรียกว่า ฮัตสึยูเมะ (初夢), หรือแม้แต่เสียงหัวเราะครั้งแรกของปี หรือที่เรียกว่า ฮัตสึวาไร (初笑)
วัฒนธรรมญี่ปุ่นในวันปีใหม่
วัด / ศาลเจ้า
ฮัตสึโมเดะ (初詣)
ฮัตสึโมเดะ เป็นการไปวัดหรือศาลเจ้าเป็นครั้งแรกในรอบปี ซึ่งมักจะเริ่มต้นในช่วง 3 วันแรกของปีใหม่ โดยจะมีการโยนเงินบริจาคลงในกล่องไม้ไซเซ็นบาโกะ [賽銭箱] และขอพร เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนิยมขอพรในวันปีใหม่ที่ศาลเจ้าหรือวัดเพื่อขอให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง, ให้มีชีวิตปลอดภัย, และมีสุขภาพดี
โจยะ โนะ คาเนะ (除夜の鐘)
โจยะ โนะ คาเนะ (除夜の鐘) คือการตีระฆังคืนสิ้นปีส่งท้ายปีเก่า ในญี่ปุ่นวัดพุทธทั่วประเทศจะตีระฆังขนาดใหญ่ 108 ครั้ง โดยเริ่มตีก่อนเที่ยงคืนไม่กี่นาที ถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในแต่ละปี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในญี่ปุ่นก็จะได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น 108 ครั้งแน่นอน การตีระฆังแสดงถึงความเชื่อของชาวพุทธที่ว่ามนุษย์ต้องทนทุกข์กับความรู้สึกและความปรารถนาทางโลก 108 ประการ เช่น ความโกรธ ความอิจฉาริษยา การตีระฆังแต่ละครั้งจะช่วยขจัดกิเลสตัณหาที่ทำให้ชีวิตไม่สงบสุขออกไป
ประเพณีวันปีใหม่ญี่ปุ่น
โมจิ-ทสึกิ (餅つき)
ในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเข้าร่วมประเพณีประจำปีในชุมชนที่เรียกว่าโมจิ-ทสึกิ (餅つき) หรือการตำข้าวเพื่อทำโมจิ โดยโมจิหรือเค้กข้าวคือข้าวเหนียวที่ตำแล้วสามารถรับประทานได้ทั้งในรูปแบบอาหารคาวและขนมหวาน ในญี่ปุ่นผู้คนเริ่มรับประทานโมจิตั้งแต่สมัยเฮอัน (794-1185) เพื่อหวังว่าจะทำให้ฟันและกระดูกแข็งแรง โมจิมีเสียงคล้ายกับคำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘ถือ’ หรือ ‘มี’ ผู้คนจึงนิยมรับประทานโมจิเเพื่อหวังว่าจะได้รับโชคลาภในปีหน้า การทำโมจิทสึกิจะใช้เวลาทั้งวัน โดยมักเริ่มทำในตอนเย็นของวันก่อนหน้า ด้วยการเริ่มล้างข้าวและแช่น้ำทิ้งไว้ข้ามคืน วันถัดมา ข้าวจะถูกใส่ลงในตะกร้าไม้สี่เหลี่ยมสำหรับนึ่ง วางซ้อนกันเหนือกาต้มน้ำเดือด หลังจากนั้นก็ถึงเวลาเริ่มตำข้าว ข้าวที่นึ่งแล้วจะถูกใส่ลงในอุสุ (碓) หรือครกขนาดใหญ่ และต้องมีคนอย่างน้อย 1 คนใช้คิเนะ (杵) หรือสากตำข้าว ส่วนอีกคนหนึ่งจะพลิกข้าวตามการแกว่งของสากแต่ละครั้ง ซึ่งจะตำไปจนกว่าโมจิจะเนียนและเป็นมันเงา จนมองไม่เห็นเมล็ดข้าวแต่ละเมล็ด
ฮัตสึฮิโนะเดะ (初日の出)
ฮัตสึฮิโนะเดะ แปลว่า “พระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรก” ชาวญี่ปุ่นหลายคนรอคอยพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปีใหม่ในเช้าตรู่ของวันที่ 1 มกราคม ท่ามกลางความหนาวเย็นของฤดูหนาว และเพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของดวงอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปี สถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งจะจัดงานพิเศษขึ้น วัดและศาลเจ้าจะเสิร์ฟซุปและอามาซาเกะ (เหล้าหวาน) ตามชายหาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน และทำการนั่งผิงไฟเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย
ของประดับตกแต่งบ้านในวันปีใหม่
ช่วงปีใหม่เป็นช่วงเวลาที่ต้องกำจัดของเก่า ดังนั้นการทำความสะอาดบ้านก่อนถึงวันโอโชงัตสึจึงเป็นประเพณีที่สำคัญ ซึ่งปกติแล้วจะทำในช่วงปลายเดือนธันวาคม ผู้คนจะเริ่มทำความสะอาดบ้าน ปัดฝุ่นออกจากเสื่อทาทามิ และกำจัดข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่เก่าและชำรุด เป็นการกำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกจากปีที่แล้วเพื่อไม่ให้ติดมากับปีใหม่
เมื่อทำความสะอาดบ้านแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะตกแต่งสถานที่ ของที่ตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสจะถูกเก็บเข้าที่และนำกลับมาใช้ใหม่ในปีถัดไป แต่ของตกแต่งปีใหม่ของญี่ปุ่นจะต้องเป็นของใหม่เอี่ยมเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามอดีต
ชิเมะ คาซาริ (しめ飾り)
เป็นสิ่งของประดับตกแต่งบ้านในวันปีใหม่ ทำจากเชือกศักดิ์สิทธิ์ ฟางข้าว กิ่งสน และกระดาษลายซิกแซกที่เรียกว่าชิเดะ (紙垂) นำมามัดรวมกันแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้าน ร้านค้า และร้านอาหารทันทีหลังเทศกาลคริสต์มาส เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามา
คาโดมัทสึ (門松)
ของตกแต่งแบบดั้งเดิมอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ประดับหน้าบ้านคือ คาโดมัทสึ ทำมาจากกิ่งสน ไม้ไผ่ และต้นพลัม โดยนำไม้ไผ่ 3 ท่อนตัดในแนวเฉียงและมัดรวมกัน เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นที่ประทับชั่วคราวของเหล่าเทพเจ้าซึ่งมาเยี่ยมเยียนเพื่ออวยพรให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ประดับไว้ คาโดมัทสึจะถูกวางอยู่หน้าบ้านจนถึงวันที่ 7 มกราคม ก่อนที่จะถูกเผาหลังวันที่ 15 มกราคมเพื่อปลดปล่อยเหล่าเทพเจ้า
อาหารวันปีใหม่ญี่ปุ่น
โทชิโคชิโซบะ (年越し蕎麦)
คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานโซบะข้ามปีในคืนส่งท้ายปีเก่า เชื่อกันว่าการรับประทานบะหมี่เส้นยาวและบางจะช่วยให้มีอายุยืนและมีสุขภาพดี อย่างที่ทราบกันดีว่าบัควีทมีความทนทานต่อสภาพการเจริญเติบโตที่เลวร้าย ดังนั้นอาหารชนิดนี้จึงเป็นตัวแทนของความอดทนสำหรับปีใหม่ที่จะมาถึง หากต้องการทานบะหมี่เพื่อให้มีโชคลาภ จะต้องรับประทานให้หมดก่อนเที่ยงคืน
โอะเซะจิ เรียวหริ (おせち料理)
ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานโอะเซะจิเรียวหริในวันปีใหม่ โดยเสิร์ฟในกล่อง 3 ชั้นที่เรียกว่าโอะจู (お重) วางไว้กลางโต๊ะแบ่งกันรับประทานในครอบครัว โดยจะประกอบด้วยอาหารต่าง ๆ ที่มีความหมายที่ดี เช่น สาหร่ายคมบุ (เพื่อให้ทั้งปีมีแต่เรื่องน่ายินดี), ลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ (เริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ดี), โกะโบว (ปราศจากอุปสรรค), และถั่วดำต้มหวาน (ขยันขันแข็ง) โดยอาหารแต่ละอย่างมีความหมายที่ดีแตกต่างกันไป
คางามิ โมจิ (鏡餅)
โมจิหรือเค้กข้าว เป็นอาหารพิเศษในวันหยุดปีใหม่ สามารถซื้อหรือทำมือก็ได้เช่นกัน โมจิสำหรับปีใหม่จะถูกนำมาทำเป็นของตกแต่งที่เรียกว่า คางามิ โมจิ (鏡餅) ประกอบด้วยโมจิกลมใหญ่วางซ้อนกัน 2 ชั้น ตามด้วยวางส้มไดไดของญี่ปุ่นวางซ้อนไว้ด้านบน ปัจจุบันมักใช้มิคังแทนส้มไดไดเนื่องจากหาซื้อได้ง่ายกว่า
แต่ถึงอย่างไรการเลือกใช้ส้มไดไดนั้นสื่อความหมายถึง สมาชิกในครอบครัวเจริญรุ่งเรืองสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน เนื่องจากคำว่า ‘ไดได’ ในภาษาญี่ปุ่นยังหมายถึง ‘หลายชั่วรุ่น’ อีกด้วย ในหลายภูมิภาคผู้คนจะวางเค้กนี้ไว้จนถึงพิธีคางามิบิรากิ (鏡開き) ในวันที่ 11 มกราคม หลังจากนั้นจึงทุบคางามิโมจิให้แตก แล้วนำมาใส่ในซุปเพื่อรับประทานในช่วงเทศกาลปีใหม่
Links to related Sites:
- Japanese New Year Traditions, kobejones
- What is Mochi? Learn About Japan's New Year's Staple - Mochi!, livejapan
- Mochitsuki: A Japanese New Year’s Tradition, asahiimports
- Hatsuhinode, a New Year Day tradition 初日の出, japan-experience
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.