ราพันเซลเป็นหนึ่งในนิทานพื้นบ้านในแถบทวีปยุโรปที่มีการถ่ายทอดปากเปล่าสืบต่อกันมาช้านาน ซึ่งก็มีการดัดแปลงให้ตรงกับในแต่ละยุคสมัย
นักวิชาการบางคนเชื่อว่าแรงบันดาลใจแรก ๆ ที่เป็นต้นแบบของเทพนิยายราพันเซลมาจากตำนานในยุโรปก่อนคริสตศักราช ที่มีตำนานเกี่ยวกับ หญิงสาวในหอคอย ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ของเทพธิดาแห่งแสง ซึ่งเทพแห่งแสงถูกกักขังและได้รับการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีตำนานที่คล้ายคลึงกันอย่างตำนานที่เกี่ยวกับเซาเล (Saulė) เทพดวงอาทิตย์แห่งทะเลบอลติกซึ่งถูกกษัตริย์จับขังไว้ในหอคอย อีกทั้งยังมีตำนานคลาสสิกของเปเซสหรือที่รู้จักกันในนามว่า เพอร์ซีอุส (Perseus) ซึ่งแม่ของเขาที่ชื่อว่าเจ้าหญิงดานาเอ (Danaë) ถูกพ่อของเธอ อะกริซซิอุส (Acrisius) กักขังไว้ในหอคอยทองสัมฤทธิ์ เพราะไม่อยากให้เธอท้อง เนื่องจากเทพพยากรณ์ได้ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าว่าหากดานาเอตั้งครรภ์ ลูกชายที่เกิดมาจะฆ่าปู่นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีแรงบันดาลใจที่อาจมาจากเรื่องราวของนักบุญบาร์บาราแห่งนิโคมีเดีย ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหญิงสาวสวยที่ถูกพ่อของเธอกักขังไว้ที่หอคอยเพื่อซ่อนเธอให้พ้นจากคู่ครอง โดยมีคนที่สงสารคอยส่งคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ให้เธออ่านทำให้ภายหลังเธอได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเขียนรุ่นหลัง เนื่องจากเนื้อเรื่องที่หญิงสาวถูกกักขังบนหอคอยเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ได้รับความนิยมไปทั่วทวีปยุโรป
ราพันเซล
(Rapunzel)
เรื่องราวของราพันเซลแต่เดิมเป็นนิทานพื้นบ้านที่มีการเล่ามาแบบปากต่อปาก โดยมีการนำมาปรับปรุงใหม่เป็นนิทานสำหรับผู้อ่านผู้ใหญ่ที่มีการศึกษา คนเมือง และชนชั้นสูง จึงเป็นเรื่องยากที่จะวาดเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างนิทานพื้นบ้านกับเทพนิยายวรรณกรรม ราพันเซลก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นเรื่องเล่าปากเปล่าของชาวตะวันตกมาตลอด
จัมบาติสตา บาซีเล (Giambattista Basile) เกิดใกล้กับเมืองเนเปิลส์ เขาได้ดึงโครงเรื่องและตัวละครจากนิทานพื้นบ้านของภูมิภาคนี้ มาดัดแปลงใหม่ให้เป็นนิทานในราชสำนักสำหรับชนชั้นสูงชาวอิตาลี ด้วยชื่อเรื่อง เปโตรซีเนลลา (Petrosinella) ในคอลเลกชัน Lo cunto de li cunti หรือที่เรียกว่า นิทานห้าวัน (Pentamerone) โดยตีพิมพ์ในปี 1634 จากนั้นชาร์แล็ต-โรซ เดอ กอม็อง เดอ ลา ฟอส (Charlotte-Rose de Caumont de La Force) ได้นำเนื้อเรื่องมาปรับปรุงเรียบเรียงใหม่ ในชื่อ แปร์ซีแน็ต (Persinette) ตีพิมพ์ในปี 1698 ซึ่งนิทานของ La Force ก็ได้รับอิทธิพลมาจากนิทานอิตาลียุคก่อน ๆ ส่วนราพันเซลในเวอร์ชันของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้มีการดัดแปลงเทพนิยายราพันเซลให้ทันสมัยในปี1812 ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
เรื่องย่อ ราพันเซลในเวอร์ชันอิตาลี
เรื่องราวของหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งอยากกินต้นผักชีฝรั่งของเพื่อนบ้านผู้ซึ่งเป็นโอเกอร์หญิง* (ogress) {*โอเกอร์หญิงคือปีศาจหญิงตนหนึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์ แต่ตัวใหญ่และน่าเกลียดน่ากลัวกว่า ต่อไปนี้จะขอเรียกเธอว่า ‘ปีศาจหญิง’ แทนเพื่อป้องกันความสับสน} เธอจึงแอบเข้าไปในสวนของเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่เป็นครั้งแล้วครั้งเล่า ปีศาจหญิงตนนี้วางกับดักเพื่อจับเธอ และจะปล่อยเธอไปก็ต่อเมื่อหญิงตั้งครรภ์ผู้นี้รับปากว่าจะยกลูกให้ไม่ว่าจะเป็นลูกชายหรือลูกสาวก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ตกใจกลัวแต่ก็รับปากว่าจะยกลูกให้ และกลับบ้านพร้อมผักชีฝรั่งเต็มกระเป๋า
ในไม่ช้าเธอก็ให้กำเนิดทารกเพศหญิงที่สวยงามและตั้งชื่อว่า เปโตรซีเนลลา (Petrosinella) มาจากคำว่าผักชีฝรั่งในภาษาท้องถิ่นของชาวเนเปิลส์ เมื่อเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ แม่ของเธอก็ลืมคำสัญญาของเธอไปเสียหมด แต่เมื่อเปโตรซีเนลลาเริ่มเข้าโรงเรียน เส้นทางไปโรงเรียนของเธอต้องเดินผ่านบ้านของปีศาจหญิง และทุกครั้งที่เปโตรซีเนลลาเดินผ่าน ปีศาจยายเฒ่าก็ร้องว่า “บอกแม่ของเธอให้จำสัญญาที่ให้ไว้กับฉันด้วย” เปโตรซีเนลลาทำตามที่ปีศาจยายเฒ่าบอก ทำให้แม่ของเธอหวาดกลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งแม่ของเธอก็บอกว่า “บอกผู้หญิงคนนั้นว่า…ให้เอาเธอไป” เมื่อเปโตรซีเนลลาส่งสารนี้กับปีศาจหญิง ทันใดนั้นปีศาจหญิงก็จับผมของเธอ และพาเธอเข้าไปในป่าลึกเพื่อขังเธอไว้ในหอคอยหินสูง บนหอคอยไม่มีประตูหรือบันได มีเพียงหน้าต่างเล็ก ๆ ด้านบนสุด ไว้รับแสงแดดอ่อน ๆ ซึ่งเด็กสาวเติบโตมาในที่แห่งนี้ มีแค่ปีศาจยายเฒ่าที่เป็นเพื่อนเพียงคนเดียวของเธอ โดยปีศาจหญิงจะปีนเข้าและออกจากหอคอยด้วยผมเปียยาวสีทองของเปโตรซีเนลลา
หลายปีผ่านไป เปโตรซีเนลลาเติบโตเป็นหญิงสาวสวย ผมเปียสีทองของเธอยาวเป็นเกลียวม้วนอยู่ที่พื้น เจ้าชายคนหนึ่งออกล่าสัตว์อยู่ใกล้ ๆ ได้พลัดหลงจากกลุ่ม เขาเดินหลงเข้าไปในป่าจนกระทั่งมาถึงหอคอย เจ้าชายเห็นปีศาจหญิงอยู่ห่างออกไป และเห็นเปโตรซีเนลลานั่งอาบแดดอยู่ที่หน้าต่าง เธอเป็นหญิงสาวที่งดงามที่สุดเท่าที่เจ้าชายเคยเห็น เขาจึงตกหลุมรักเธอในทันที เจ้าชายตะโกนเรียกหญิงสาวที่อยู่ริมหน้าต่างและคุยกันแบบนี้หลายวัน จนเจ้าชายสัญญาว่าจะช่วยให้เปโตรซีเนลลาหนีออกมาให้ได้ วันหนึ่งเปโตรซีเนลลาได้เสนอแผนการการนัดพบกันเมื่อดวงจันทร์ขึ้น ในคืนนั้นเธอมอบดอกป๊อปปี้ให้ปีศาจหญิงเพื่อให้นางนอนหลับ จากนั้นเธอก็โยนเปียของเธอไปที่ขอบหน้าต่างแล้วดึงเจ้าชายขึ้น เจ้าชายทำอาหารจากซอสพาร์สลีย์แห่งความรักให้เปโตรซีเนลลารับประทาน ทั้งสองร่วมรักกันหลายคืน จนปีศาจหญิงเริ่มระแคะระคาย ปีศาจหญิงเตือนว่า “ลูกสาว เจ้าไม่อาจหนีไปได้ไกลหากไม่ใช้ลูกโอ๊กวิเศษของฉัน ฉันซ่อนมันไว้อย่างดีเหนือคานค้ำหลังคา”
เปโตรซีเนลลากำลังฟังปีศาจหญิงอยู่ที่หน้าต่าง เธอจึงรีบวางแผนบอกให้คนรักของเธอนำเชือกมาให้ เธอขโมยลูกโอ๊กสามลูกและใช้เชือกเพื่อปีนออกจากหอคอย ทั้งสองหนีไปได้ไม่ไกลนัก แต่ปีศาจหญิงตื่นขึ้นมาและพบว่าเปโตรซีเนลลาหายไป เธอจึงใช้เวทมนตร์ไล่ตามจนพบกับคู่รักที่กำลังหลบหนี
เปโตรซีเนลลาขว้างลูกโอ๊กลูกแรกลงไป ลูกโอ๊กกลายเป็นสุนัขที่ดุร้าย แต่ปีศาจหญิงกลับหยิบขนมปังจากกระเป๋าและให้อาหารสุนัขเพื่อให้ตัวเองผ่านมาได้ เปโตรซีเนลลาจึงโยนลูกโอ๊กลูกที่สอง มันกลายเป็นสิงโตที่ดุร้าย ปีศาจหญิงจึงทำให้สิ่งโตกลัวและหนีไปอีกครั้ง เปโตรซีเนลลาจึงขว้างลูกโอ๊กลูกที่สามลงมา ลูกโอ๊กกลายเป็นหมาป่าตัวใหญ่ที่หิวโหยซึ่งสามารถกลืนกินสัตว์ร้ายได้อย่างรวดเร็ว ปีศาจหญิงไม่สามารถใช้เวทมนตร์ได้ทัน จึงถูกหมาป่าจัดการในที่สุด เปโตรซีเนลลาและเจ้าชายเดินทางต่อไปจนถึงอาณาจักรของเจ้าชายที่มีพระราชบิดารอต้อนรับอยู่ และอนุญาตให้เจ้าชายตั้งเปโตรซีเนลลาเป็นภรรยา หลังจากผ่านความยากลำบากมาด้วยกันมากมาย ทั้งสองก็อยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย
ต้นกำเนิดของแปร์ซีแน็ต
และเรื่องราวพอสังเขปของ La Force
หลังจากที่ราพันเซลเวอร์ชันอิตาลีได้ตีพิมพ์ออกมา ประมาณ 60 ปีให้หลังชาร์แล็ต-โรซ เดอ กอม็อง เดอ ลา ฟอส ได้ยืมองค์ประกอบบางอย่างมาใช้ในแปร์ซีแน็ต (Persinette) หญิงสาวบนหอคอยในแบบฉบับของเธอเอง ซึ่งตีพิมพ์ในคอลเลกชันเทพนิยาย Les contes des contes ในปี 1697 ซึ่ง La Force เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเขียนผู้สร้างกระแสนิยมวรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่ในปารีสเช่นเดียวกับบาซีเล โดย La Force ได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านให้กับผู้อ่านที่มีการศึกษาและชนชั้นสูง ซึ่งร้อยเรียงเรื่องราวที่มีทั้งความบันเทิงและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ของชีวิตในสังคมร่วมสมัย
ประเด็นหนึ่งที่ผู้หญิงในยุคนั้นกังวลเป็นพิเศษคือธรรมเนียมการคลุมถุงชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นสูง เนื่องจากผู้หญิงไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการจัดการกับกฎหมายเหล่านี้ การตกลงกันมักจะเกิดขึ้นระหว่างขุนนางสองตระกูลที่มีการนำลูกมาเกี่ยวดองกันเพื่อผูกมิตรและยกลูกสาวให้อีกฝ่ายแทนการจ่ายหนี้ การมีเพศสัมพันธ์เป็นสิทธิตามกฎหมายของสามี และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการหย่าร้าง จะพบว่าในสมัยนั้นเด็กสาวจะแต่งงานกับผู้ชายที่มีอายุมากกว่าหรือชายแก่ที่มีอารมณ์ร้ายและต้องทนอยู่ร่วมกันมาหลายปี ลูกสาวที่ไม่เชื่อฟังอาจถูกขังอยู่ในคอนแวนต์ (สำนักแม่ชี) หรือขังไว้ในบ้านคนบ้า จึงไม่น่าแปลกใจที่นิทานพื้นบ้านฝรั่งเศสจะเต็มไปด้วยเด็กผู้หญิงที่ถูกพ่อแม่ใจร้ายส่งเด็กหญิงไปให้กับสัตว์ประหลาดต่าง ๆ หรือถูกขังไว้ในหอคอยต้องมนตร์ที่มีเพียงรักแท้เท่านั้นที่จะช่วยพวกเธอได้
ทั้ง La Force และนักเขียนคนอื่น ๆ ในยุคนั้นสนับสนุนแนวคิดเรื่องการแต่งงานที่ยินยอมพร้อมใจ และดูแลภรรยาด้วยความรักและความสุภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดกับสังคมในยุคนั้น ซึ่ง La Force เองก็เป็นผู้หญิงที่มาจากตระกูลสูงศักดิ์ที่รักอิสระขัดกับสังคมในยุคนั้น เธอต้องการใช้ชีวิตในแบบที่กำหนดด้วยตัวเอง เธอตกหลุมรักและพยายามแต่งงานกับชายหนุ่มโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ครอบครัวของฝ่ายชายจับขังฝ่ายชายไว้ไม่ให้หลบหนี La Force จึงแอบเข้าไปในห้องของคนรักโดยแต่งตัวเป็นหมีคณะละครเร่ ทั้งคู่หลบหนีและแต่งงานกัน แต่ในที่สุดทั้งคู่ก็ถูกจับได้ ด้วยข้อกฎหมายทำให้การแต่งงานของทั้งคู่เป็นโมฆะ
นอกจากนี้ La Force ยังถูกจับได้ว่าเผยแพร่งานเสียดสีที่วิพากษ์วิจารณ์พระเจ้าหลุยส์ที่14 ทำให้เธอถูกเนรเทศไปยังคอนแวนต์ ณ ที่แห่งนี้เธอได้เขียนหนังสือนิทานและนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยอดนิยมหลายชุด ในที่สุดเธอก็ได้รับการปล่อยตัว และได้ใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยงานเขียนของเธอเอง
เรื่องย่อ ราพันเซลในเวอร์ชันฝรั่งเศส
เรื่องราวของภรรยาคนหนึ่งตั้งครรภ์ ด้วยความแพ้ท้องจึงอยากกินผักชีฝรั่ง สามีของเธอขโมยผักชีฝรั่งจากสวนต้องมนตร์ของนางฟ้า วันหนึ่งนางฟ้าจับได้จึงเรียกร้องขอแลกกับลูกในท้องเป็นค่าตอบแทน ฝ่ายสามีตอบตกลง เมื่อภรรยาของเขาให้กำเนิดทารกเพศหญิงที่สวยงาม เธอก็มอบเด็กให้กับนางฟ้าทันที นางฟ้าเลี้ยงดูเด็กหญิงอย่างอ่อนโยนจนกระทั่งแปร์ซีแน็ตเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อให้หญิงสาวปลอดภัยจากอันตราย (ทั้งสายตาและความสนใจของผู้ชาย) นางฟ้าจึงสร้างหอคอยสีเงินที่งดงามลึกเข้าไปในป่า ภายในนั้นมีทุกสิ่งที่หญิงสาวต้องการ ทั้งห้องพักขนาดใหญ่ที่โปร่งสบายตกแต่งอย่างหรูหรา ตู้เสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าหรูหรา อาหารอร่อยที่เสิร์ฟโดยนางฟ้าล่องหน มีหนังสือ อุปกรณ์วาดภาพ และเครื่องดนตรี แปร์ซีแน็ตจึงไม่มีวันเบื่อ แต่สิ่งที่ไม่มีคือประตูและบันได เมื่อใดก็ตามที่นางฟ้ามาเรียก เธอจะพูดว่า “แปร์ซีแน็ต ปล่อยผมลง” เธอก็จะปีนขึ้นไปหาหญิงสาวทางหน้าต่าง
หลายปีผ่านไปวันหนึ่งลูกชายของกษัตริย์กำลังล่าสัตว์อยู่ในป่าใกล้ ๆ เขาได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงและตกหลุมรักเธอแม้ไม่เห็นหน้าของเธอมาก่อน เมื่อเขาร้องเรียกเธอจากด้านล่างหอคอย แปร์ซีแน็ตก็ตกใจกลัว เนื่องจากหลายปีก่อนเธอเคยเห็นผู้ชายคนหนึ่ง แต่นางฟ้าบอกเธอว่าบางคนเป็นสัตว์ประหลาดที่สามารถฆ่าได้ด้วยการมองเพียงครั้งเดียว เจ้าชายรู้สึกท้อแท้ แต่เขาไม่สามารถลืมเสียงอันไพเราะนั้นได้ เขาจึงสอบถามกับชาวเมืองในหมู่บ้านใกล้เคียงและได้รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นนักโทษของนางฟ้า
เจ้าชายจึงกลับมา รอ และเฝ้าดูว่านางฟ้าเข้าและออกจากหอคอยอย่างไร วันรุ่งขึ้นเมื่อนางฟ้าจากไปแล้ว เขาก็ยืนขึ้นและร้องเรียกตามเสียงของนางฟ้าว่า “แปร์ซีแน็ต ปล่อยผมของเธอลง” ผมยาวสีทองของเธอร่วงลงมา เจ้าชายปีนขึ้นไปและก้าวเข้าไปในหอคอย แปร์ซีแน็ตรู้สึกหวาดกลัวอีกครั้ง แต่ก็เรียกความมั่นใจของตัวเองกลับขึ้นมาได้ เจ้าชายขอแต่งงานเธอที่นั่น แปร์ซีแน็ตยินยอมโดยที่แทบไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
หลังจากนั้นไม่นานแปร์ซีแน็ตก็อ้วนขึ้น แต่เธอไร้เดียงสาเกินกว่าที่จะรู้ว่าตัวเองท้อง แต่นางฟ้ารู้แน่นอน นางฟ้าโกรธมากหยิบมีดขึ้นมาตัดผมเปียยาวของแปร์ซีแน็ตออก จากนั้นก็ใช้แสงแห่งเวทมนตร์ของนางฟ้าส่งเธอไปยังสถานที่ห่างไกล นางฟ้าแขวนผมเปียจากหน้าต่างหอคอยเพื่อรอให้เจ้าชายมา นางฟ้าบอกเจ้าชายด้วยความโกรธว่าเจ้าชายจะไม่ได้พบแปร์ซีแน็ตอีก จากนั้นนางฟ้าก็เหวี่ยงเจ้าชายหล่นลงมาจากหอคอย โดนพุ่มหนามเกี่ยวดวงตาจนทำให้เขาตาบอด
เป็นเวลาหลายปีที่เจ้าชายท่องไปทั่วโลก จนกระทั่งในที่สุดเขาก็มาถึงสถานที่ห่างไกลที่เขาได้ยินภรรยาของเขาร้องเพลง แปร์ซีแน็ตมีลูกแฝดซึ่งจำชายตาบอดว่าเป็นพ่อของพวกเขาได้ในทันที แปร์ซีแน็ตร้องไห้ด้วยความดีใจ และน้ำตาของเธอก็ทำให้เขามองเห็นได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถึงกระนั้น นางฟ้ายังคงโกรธและยังไม่พร้อมที่จะจากไป อาหารในตู้ปลากลายเป็นหิน บ่อน้ำเต็มไปด้วยงูพิษ นกบนท้องฟ้ากลายเป็นมังกรพ่นไฟ ครอบครัวของสัตว์เล็ก ๆ รวมตัวกันด้วยความกลัวตายจากความโกรธของนางฟ้า แต่คู่รักมีความสุขที่ได้พบหน้ากัน ทำให้หัวใจของนางฟ้าก็แหลกสลาย เธอเห็นว่าความรักของพวกเขาแข็งแกร่งอย่างแท้จริง จึงให้อภัยพวกเขา และส่งพวกเขาไปยังปราสาทของกษัตริย์ ที่ซึ่งกษัตริย์และราชินีต้อนรับลูกชายและครอบครัวของเขาอย่างเต็มใจ
เรื่องย่อ ราพันเซลในเวอร์ชันเยอรมนี
ส่วนราพันเซลของฟรีดริช ชูลซ์ (Friedrich Schulz) ได้มีการตีพิมพ์ในเยอรมนี 100 ปีต่อมา โดยดำเนินเรื่องหลักตามโครงเรื่องของ La Force แต่ในขณะเดียวกันก็ลดทอนภาษาดอกไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเทพนิยายในยุคก่อน การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวที่ฟรีดริช ชูลซ์สร้างเรื่องราวขึ้นคือให้นางฟ้ามีความเห็นอกเห็นใจมากยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าราพันเซลตั้งครรภ์ โดยถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่นางฟ้าผู้ซึ่งเป็นแม่ทูนหัวผิดหวังในตัวราพันเซลมากกว่าความโกรธและอาฆาตพยาบาท และไม่ได้มีการโยนเจ้าชายลงจากหอคอย แต่เป็นเจ้าชายเลือกที่จะกระโดดเองด้วยความสิ้นหวัง โดยรวมแล้วฟรีดริช ชูลซ์เพียงแค่เล่าเรื่องของ La Force ให้คล้ายเดิม แทนที่จะดัดแปลงเป็นเรื่องใหม่
ส่วนในราพันเซลในเวอร์ชันปากเปล่าที่สองพี่น้องตระกูลกริมม์นำมารวบรวมใหม่ในครึ่งศตวรรษหลัง จากสิ่งพิมพ์ของฟรีดริช ชูลซ์ ก็เป็นไปตามโครงเรื่องของฟรีดริช ชูลซ์ และ La Force ซึ่งเห็นได้ชัดว่านำมาจากทั้งสองเวอร์ชัน ซึ่งสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างก่อนที่จะตีพิมพ์ราพันเซลในปี 1857 โดยเรื่องราวได้เริ่มต้นจากความอยากกินผักราพันเซลของหญิงตั้งครรภ์ (โดยทั่วไปเชื่อกันว่าพืชชนิดนี้คือ ‘Campanula rapunculus’ ซึ่งเป็นผักสลัดที่รู้จักกันในชื่อสามัญว่า ‘Rampion หรือ Bellflower’ เป็นผักพื้นบ้านของเยอรมัน) ซึ่งเติบโตในสวนของแม่มด ซึ่งสองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้ดัดแปลงจากนางฟ้าให้เป็นแม่มด เนื่องจากมันมีความฝรั่งเศสมากจนเกินไป ในเวอร์ชันนี้ เด็กสาวจะถูกขังไว้ในหอคอยของผู้หญิงที่เธอเรียกว่า Frau Gothel ซึ่งเป็นชื่อทั่วไปสำหรับแม่ทูนหัว บนหอคอยไม่มีประตูหรือบันได วิธีเดียวที่จะเข้าไปได้คือต้องตะโกนเรียกราพันเซลด้วยประโยคยอดฮิตว่า “ราพันเซล ราพันเซล ปล่อยผมของคุณลง”
เจ้าชายได้ยินเสียงหญิงสาวร้องเพลงจากบนหอคอยแต่ไม่สามารถเข้าไปได้ เขากลับมาอีกครั้งและได้เห็นวิธีที่แม่มดปีนขึ้นไปหาราพันเซลเจ้าชายจึงลองเสี่ยงโชคด้วยการลองเรียกราพันเซลด้วย เมื่อเจ้าชายปีนขึ้นไปบนหอคอยสำเร็จ เขาก็ปลอบหญิงสาวที่กำลังตกใจ และประกาศความรักนิรันดร์ที่เขามีต่อเธอ เขายื่นมือขอเธอแต่งงาน ราพันเซลตอบรับคำขออย่างบริสุทธิ์ใจ หลังจากนั้นเจ้าชายก็ไปเยี่ยมราพันเซลทุกเย็นตอนที่แม่ทูนหัวไม่อยู่ ทุกครั้งที่เขามา เขาจะนำผ้าไหมมาหนึ่งเส้นเพื่อที่เธอจะได้สานบันไดเพื่อหลบหนี อยู่มาวันหนึ่งขณะที่แม่มดปีนผมของเธอ ราพันเซลถามเธออย่างเหม่อลอยว่าทำไมเธอถึงตัวหนักกว่าเจ้าชายมาก แม่มดคาดเดาเรื่องได้ทั้งหมดทำให้เธอโกรธ แม่มดจึงตัดผมของราพันเซล และ เนรเทศเธอไปยังถิ่นทุรกันดารอันไกลโพ้น แม่มดวางอุบายรอให้เจ้าชายแวะมาเยี่ยมเธอในคืนนั้น เจ้าชายกระโดดลงมาจากหอคอย จนถูกหนามทิ่มตา จากนั้นเจ้าชายออกท่องโลกกว้างเพื่อตามหาราพันเซล เมื่อพวกเขาเจอกันน้ำตาของราพันเซลทำให้ดวงตาเจ้าชายกลับมามองเห็นอีกครั้ง และรู้ว่าเขามีลูกสองคน พวกเขาพากันกลับบ้านไปยังพระราชวังของบิดา โดยไม่มีการพูดถึงแม่มดโกเธลอีก
ในเวอร์ชันของสองพี่น้องตระกูลกริมม์เดิมทีคอลเลกชันนิทานพื้นบ้านของพวกเขาเป็นที่สนใจในหมู่นักวิชาการเป็นหลัก แต่แล้วพวกเขาก็ตระหนักถึงผู้อ่านจำนวนมากโดยเฉพาะเยาวชน จึงทำให้การตีพิมพ์ครั้งต่อ ๆ ไป พวกเขาได้แก้ไขเรื่องราวบางส่วนเพื่อให้เหมาะกับผู้อ่านที่เป็นเยาวชนมากขึ้น โดยลบการอ้างอิงทางเพศและทำให้นางเอกมีศีลธรรมมากขึ้น ดังนั้นในราพันเซลในฉบับของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ บทพูดของราพันเซลต่อแม่มด (ซึ่งก็คือผู้ปกครองของเธอ) ที่กล่าวว่าเสื้อผ้าของเธอไม่พอดีอีกต่อไป (เพราะเธอกำลังตั้งครรภ์) ได้ถูกลบออกไป ลูกฝาแฝดจะปรากฏตัวขึ้นโดยไม่มีคำอธิบายในตอนท้ายของเรื่องแทน ราพันเซลในเวอร์ชันสำหรับเด็กนี้จึงเป็นที่รู้จักดีที่สุดในปัจจุบัน
ราพันเซลในเวอร์ชันของสองพี่น้องกริมม์ถูกเล่าขานถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนังสือภาพจำนวนมาก บางครั้งก็แก้ไขเพิ่มเติมด้วยการลบการมีอยู่ของลูกฝาแฝดที่น่าอึดอัดใจนี้ออกไป ในความคิดของคนทั่วไป นิทานของราพันเซลมีไว้สำหรับผู้อ่านที่อายุน้อยมาก ซึ่งมีน้อยคนนักที่ตระหนักว่านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของหญิงสาววัยแรกรุ่น ทั้งเรื่องความต้องการทางเพศ และความชั่วร้ายของการกีดกันหญิงสาวออกจากชีวิต และการตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตด้วยตนเองของหญิงสาว ในเวอร์ชันสำหรับเด็ก ราพันเซลเป็นเพียงเจ้าหญิงที่รอเจ้าชายของเธอ ในขณะที่ในนิทานฉบับเก่าเราได้เห็นถึงเรื่องราวในมุมมองที่แตกต่างออกไป จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชีวิตถูกควบคุมโดยผู้ใหญ่ที่ละโมบ เห็นแก่ตัว และเอาแต่ใจ จนกระทั่งเธอไม่เชื่อฟังผู้ปกครองของเธออีกต่อไปและขอเลือกชะตากรรมของตัวเอง การหลบหนีออกมาจากการถูกกักขังอิสรภาพสู่การใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ มีการพูดถึงการให้กำเนิดลูกของเธอเองในแดนไกล
ราพันเซลเป็นนิทานคลาสสิกที่นักเขียนคนอื่น ๆ ได้มีการนำมาดัดแปลงอยู่เรื่อย ๆ ตามแต่ละยุคสมัย (ดิสนีย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น) โดยธีมหลักของเรื่องจะเน้นไปที่เรื่องราวของผู้เป็นแม่ที่รัก (หวง) ลูกมากเกินไป ไม่เต็มใจให้ลูกได้ลองใช้ชีวิตของตัวเอง ลูกสาวที่เจ็บปวดจากการถูกจองจำ และชายหนุ่มที่หลงรักผู้หญิงที่เขาแทบจะไม่รู้จักมาก่อน โดยที่ราพันเซลกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีพื้นบ้าน ที่มีความเป็นสากลและไร้กาลเวลา เราทุกคนต่างอยากได้ของที่มีราคาแพงเกินรับไหว เราทุกคนอาจเคยรู้สึกว่าชีวิตถูกจองจำในบางครั้ง เราทุกคนต่างถูกพัดพาไปด้วยความรัก แต่ท้ายที่สุดแล้วชีวิตก็ต้องจบลงด้วยการแตกสลายและเดียวดาย เราทุกคนต่างหวังในบุญคุณทั้งยามทุกข์และยามสุข ในตอนท้ายของเรื่องเหมือนต้องการบอกว่าเราต้องออกจากหอคอยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราไม่สามารถอยู่ในวัยเด็กได้ตลอดไป โลกของผู้ใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยความน่าสะพรึงกลัวและความมหัศจรรย์รอเราอยู่ด้านนอกนั่นเอง
Links to related Sites: - How to pronounce Name (Greek/Greece), PronounceNames.com - The Maiden in the Tower, terriwindling.com - Persinette, fairytalearchive.wordpress.com - The True Story of Rapunzel, historydefined.net - Rapunzel Jacob and Wilhelm Grimm, sites.pitt.edu
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.