วันไหว้พระจันทร์ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับกลางฤดูใบไม้ร่วง วันไหว้พระจันทร์มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลที่สำคัญเป็นอันดับสองของชาวจีนรองจากตรุษจีน คนจีนจะกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลองอยู่กันพร้อมหน้า มีการไหว้ขอพรดวงจันทร์ และนำขนมไหว้พระจันทร์มารับประทาน
ต้นกำเนิดของเทศกาลไหว้พระจันทร์
แม้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของเทศกาลไหว้พระจันทร์จะไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการบูชาพระจันทร์เริ่มขึ้นเมื่อ 3,000 ปีก่อนในสมัยราชวงศ์ชาง (ประมาณ 1,600-1,046 ปีก่อนคริสตกาล) แต่เทศกาลนี้มีการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในประเทศจีนช่วงราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) เมื่อจักรพรรดิโบราณของจีนจัดงานเลี้ยงเพื่อถวายเครื่องบูชาแก่เทพเจ้าและดวงจันทร์ รวมถึงยังเป็นการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผลประจำปี
หลังจากสมัยราชวงศ์ถัง เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วงก็ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่องค์จักรพรรดิจะตอบแทนเจ้าหน้าที่ของพระองค์ที่ทำงานหนัก ต่อมาได้มีการก่อตั้งวันหยุดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) เมื่อเวลาผ่านไปจึงได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นเทศกาลที่มีประเพณีมากมาย เช่น การขอบคุณดวงจันทร์ การสวดภาวนาขอให้โชคดี ขอโชคลาภ และขอความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกลับมารวมตัวกับครอบครัวอีกครั้งเพื่อเฉลิมฉลองและชื่นชมดวงจันทร์ที่สวยงามร่วมกัน
จักรพรรดิจีนโบราณใช้เทศกาลไหว้พระจันทร์เพื่อขอพรให้ในปีนั้น ๆ มีพืชผลอุดมสมบูรณ์ มีสภาพอากาศที่ดี และประเทศชาติมีความสงบสุข เนื่องจากการเก็บเกี่ยวผูกติดอยู่กับรอบเดือน เทศกาลนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อพระจันทร์เต็มดวง ซูสีไทเฮา (ปลายศตวรรษที่ 19) ชื่นชอบสิ่งนี้มาก โดยใช้เวลา 5 วันของทุกปีเพื่อจัดพิธีบูชาพระจันทร์
เรื่องเล่าในตำนานของเทศกาลไหว้พระจันทร์
ในวรรณคดีส่วนใหญ่พระจันทร์มักเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกคิดถึงบ้าน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทำไมในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ครอบครัวมักรวมตัวกันเพื่อชื่นชมความงามของดวงจันทร์
มีหนึ่งในตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ คือเรื่องราวของเทพธิดาแห่งดวงจันทร์นามว่า “แม่นางฉางเอ๋อ (Chang’e)” ซึ่งได้มีการจัดของไหว้ให้แก่เธอในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์
ตามเรื่องเล่าในตำนาน แม่นางฉางเอ๋อ เป็นหญิงคนรักของนักยิงธนูแห่งสววรค์นามว่า “โฮ่วอี้ (Hou Yi)” ครั้งหนึ่งในอดีตกาลชาวบ้านในโลกมนุษย์เดือดร้อนจากการที่บนท้องฟ้ามีพระอาทิตย์มากถึง 10 ดวง โฮ่วอี้ได้ใช้ธนูยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง แม้ว่าเง็กเซียนฮ่องเต้แห่งสวรรค์จะพิโรธจนขับไล่โฮ้วอี้และแม่นางฉางเอ๋อลงมาอยู๋บนโลกมนุษย์ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้โฮ่วอี้ได้รับการยกย่องจากชาวบ้านจนมีคนมาขอเรียนธนูกับโฮ่วอี้มากมาย รวมถึงเฝิงเหมิง (Feng Meng) ผู้มีจิตใจชั่วช้าก็แฝงตัวมาเรียนธนูกับเขาด้วย
วันหนึ่งโฮ่วอี้ได้รับยาอายุวัฒนะจากฮองเฮาแห่งสวรรค์ ว่ากันว่าหากใครได้กินยานี้เข้าไปก็จะสามารถเหาะขึ้นสวรรค์ไปเป็นเทพได้ทันที เมื่อโฮ่วอี้ไม่อยู่ เฝิงเหมิงต้องการขโมยยาอายุวัฒนะจึงข่มขู่แม่นางฉางเอ๋อ ทำให้แม่นางฉางเอ๋อตัดสินใจกลืนยาอายุวัฒนะ ทำให้เธอลอยไปเป็นเทพบนดวงจันทร์ เมื่อโฮ่วอี้กลับมาก็รู้สึกเศร้าโศกถึงแม่นางฉางเอ๋อ ในค่ำคืนนั้น โฮ่วอี้มองขึ้นไปบนพระจันทร์ก็เห็นเงาเหมือนกับแม่นางฉางเอ๋อ ซึ่งในคืนนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 พอดี โฮ่วอี้ได้ฝึกฝนตนเองจนได้กลายเป็นเทพแห่งสวรรค์ และได้พบกับแม่นางฉางเอ๋อปีละครั้ง
เมื่อชาวบ้านรับรู้เรื่องราวของฉางเอ๋อ ต่างก็จัดเครื่องบูชาเพื่อขอพรแม่นางฉางเอ๋อให้ช่วยคุ้มครอง และขอพรเรื่องความรัก จนกระทั่งเกิดเป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับดวงจันทร์อีกมากมายหลากหลายตำนาน อย่างเช่น ตำนานอู๋กัง คนตัดไม้จากโลกมนุษย์ที่ลักลอบเข้าไปตัดต้นหอมหมื่นลี้ศักดิ์สิทธิ์ จึงถูกลงโทษให้ไปตัดต้นหอมหมื่นลี้บนดวงจันทร์ ซึ่งก็เป็นสวนของแม่นางฉางเอ๋อ รวมถึงยังมีตำนานของกระต่ายที่บรรลุธรรมเป็นเซียนและคอยปรุงยาอยู่บนสวรรค์แต่ทำผิดกฎจึงถูกลงโทษให้อยู่บนดวงจันทร์
และอีกหนึ่งตำนานที่เกี่ยวกับแม่นางฉางเอ๋อและกระต่ายที่คอยอยู่ข้างกาย เล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อโลกมนุษย์เกิดโรคระบาดหนัก แม่นางฉางเอ๋อได้ส่งกระต่ายปรุงยาลงมาช่วยรักษาโรคให้กับชาวบ้าน โดยแปลงกายเป็นหญิงสาว เมื่อรักษาโรคจนชาวบ้านหายจากโรคระบาดจึงกลับขึ้นไปบนดวงจันทร์ ชาวบ้านจึงไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายที่อยู่บนดวงจันทร์ด้วย เมื่อแหงนมองขึ้นไปบนดวงจันทร์ หากมองตามจินตนาการที่มีก็จะคล้ายกับภาพกระต่ายกำลังตำยาอยู่บนดวงจันทร์ได้อีกด้วย
เทศกาลไหว้พระจันทร์ในแต่ละประเทศและท้องถิ่นต่าง ๆ
ในประเทศจีนเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็มีการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ในหนานจิง หรือ นานกิง (Nanjing) หนึ่งในเมืองสำคัญของจีน ผู้คนจะรับประทานเป็ดที่ทำจากดอกหอมหมื่นลี้ที่หอมหวานเพื่อเฉลิมฉลอง ในเซี่ยงไฮ้ผู้คนมักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดพิเศษที่ทำจากดอกหอมหมื่นลี้ และในหลายภูมิภาคโคมไฟถือเป็นของตกแต่งที่จำเป็นสำหรับช่วงเวลานี้ของปี
ประเทศอื่นในเอเชียก็มีการเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วยเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
อย่างในประเทศเกาหลีใต้คนมักเรียกกันว่า เทศกาลชูซอก (추석) หรือชื่อเดิมคือ เทศกาลฮันกาวี (한가위) ในเกาหลีใต้เทศกาลนี้เป็นวันหยุดประจำชาติ และเป็นวันที่ครอบครัวจะอยู่กันพร้อมหน้า คนเกาหลีนิยมใส่ชุดฮันบก มีการไหว้เคารพบรรพบุรุษ และขอให้ผลผลิตทางเกษตรอุดมสมบูรณ์ ในเทศกาลนี้มีการปั้นขนมซงพยอน (송편) ซึ่งเป็นเค้กข้าวที่ใส่ไส้ธัญพืชไว้ด้านใน มีความเชื่อกันว่า หากปั้นต๊อกเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวได้สวยงามก็จะได้พบคนรักที่ดีหรือบางความเชื่อก็บอกว่าจะได้ลูกสาวสวย ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการปั้นที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวเท่านั้น
ส่วนในประเทศญี่ปุ่นมีการชมพระจันทร์ หรือที่เรียกว่า โอทสึคิมิ (お月見) มีการปั้นทสึกิมิ ดังโงะ (月見団子) ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลม ๆ คล้ายดวงจันทร์ (นิยมไหว้ 12 ลูก, 13 ลูก ,หรือ 15 ลูก) พร้อมเครื่องเซ่นไหว้อื่น ๆ อย่างเหล้า กิ่งซูซูกิ รวมถึงนำพืชผลที่มีในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เช่น เกาลัด, ลูกพลับ, เผือก เพื่อไหว้ขอพรต่อดวงจันทร์ ให้มีพืชผลอุดมสมบูรณ์ และนั่งชมความงามของดวงจันทร์ ซึ่งคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากได้ชมดวงจันทร์ครบทั้งสามวันรวมวันก่อนและหลังไหว้พระจันทร์ก็จะพบแต่ความโชคดี หรือบางครอบครัวผู้สูงวัยก็จะเล่าตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับดวงจันทร์ให้ลูกหลานฟัง เช่น “ตำนานกระต่ายตำข้าวบนดวงจันทร์” ที่มีความคล้ายคลึงกับตำนานกระต่ายบนดวงจันทร์ของจีน และนิทานเรื่อง “เจ้าหญิงคางุยะ (Taketori Momogatari)” เป็นตำนานเกี่ยวกับหญิงสาวจากดวงจันทร์ลงมาเกิดในกระบอกไม้ไผ่ ชายดัดไม้ไผ่มาเจอ จึงได้นำมาเลี้ยงไว้เป็นลูกบุตรธรรมนั่นเอง
สวัสดีปีกระต่าย! 15 เรื่องราวของกระต่ายที่คนรักกระต่ายควรรู้
Links to related Sites: - mid-autumn festival, tandem - Everything you need to know about the Mid-Autumn Festival, timeout - History of China: Timeline Summary, Dynasties of China, chinahighlights - ประวัติเทพจันทราฉางเอ๋อ, chinatownyaowarach - Chuseok, 90daykorean - Otsukimi(月見), kokorocares
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.