คุณชอบคิดจินตนาการถึงเรื่องราวอยู่ในหัว เหมือนภาพฉายหนังในหัวใช่หรือไม่? สิ่งนี้เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Kopfkino [/ˈkɔpfˌkiːno/]
คำว่า Kopf (หัว) และ Kino (โรงหนัง) สองคำนี้รวมกันแล้วหมายถึง “โรงหนังในหัว” เป็นคำที่ไว้อธิบายเวลาที่เรานึกภาพอะไรในหัวเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา คำ ๆ นี้ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1980 สำนวนนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการใช้งานทั่วไปในด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ จินตนาการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรู้ โดยสมองจะประมวลผลข้อมูลและสร้างภาพทางจิต ซึ่งจินตนาการและความสามารถในการสร้างภาพทางจิตเป็นพื้นฐานทางด้านจิตใจของมนุษย์
ข้อดีและข้อเสียของ Kopfkino
ข้อดี
การมีภาพยนตร์เล่นอยู่ในหัวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ สามารถช่วยกระตุ้นกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์ อีกทั้งการเสริมสร้างจินตนาการก็อาจเป็นช่องทางระบายความเครียดและอารมณ์ด้านลบได้ นอกจากนี้การที่เรามีจินตนาการยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือบำบัดเพื่อช่วยจัดการกับความกลัวและความบอบช้ำทางจิตใจได้อีกด้วย
ซึ่ง Kopfkino สามารถเริ่มฉายได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่สำนักงาน ในห้องเรียน หรืออยู่ระหว่างการสนทนาที่น่าเบื่อก็ตาม เช่น หากกำลังเดินทางด้วยรถไฟ การมีจินตนาการคิดอะไรไปเรื่อยจะช่วยให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้า ณ ขณะนั้นคุณกำลังต้องการใช้สมาธิจดจ่อกับงานที่สำคัญ Kopfkino ของคุณก็อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี แม้ว่ากำลังจะฝันกลางวันถึงเรื่องที่ทำให้ยิ้มกริ่มได้ก็ตาม
ข้อเสีย
แต่ไม่ใช่ว่า Kopfkino ของคุณจะมีแต่เรื่องดี ๆ หากคุณเป็นคนที่ชอบเผลอคิดลบหรือกำลังมีเรื่องกังวลใจอยู่ การจะหลุดพ้นจากการหยุดคิดลบเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะความคิดลบ ๆ ก็จะปรากฏขึ้นในหัวของคุณซ้ำแล้วซ้ำอีก ในหัวของคุณก็จะสร้างภาพจินตนาการที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะทำให้คุณรู้สึกแย่ได้ ความคิดนั้นอาจเกี่ยวกับตัวคุณเองหรือผู้อื่น โดยมักจะมาพร้อมกับความรู้สึกในเชิงลบ เช่น ความกลัวหรือความเศร้า สำหรับบางคนความคิดเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นระลอกและควบคุมได้ยาก หากไม่สามารถควบคุมได้ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิต นำไปสู่การหมกมุ่นอยู่กับความคิดบางอย่างมากเกินไป รวมไปถึงความเจ็บป่วยทางจิตที่เป็นผลมาจากรูปแบบความคิดที่ตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาทางอารมณ์อื่น ๆ ตามมา
เราจึงมีวิธีการบางอย่างที่คุณสามารถทำได้เพื่อหยุด Kopfkino มาปลดปล่อยตัวเองจากความเครียดทางจิตใจและปรับปรุงสุขภาพจิตไปพร้อม ๆ กัน
การเล่นกีฬาช่วยหยุดภาพฉายในหัว
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกีฬาในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี (Deutschen Sporthochschule Köln) ได้ค้นพบสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองระหว่างเล่นกีฬาอย่างการวิ่ง เป็นวิธีที่ได้รับการทดสอบแล้วสำหรับนักวิ่งสมัครเล่นว่า สมองทำงานช้าลงและสงบลงขณะวิ่ง
Vera Abeln และ Leonard Braunsmann ผู้นำโครงการวิจัย “Clear Mind” ได้ทำการค้นคว้า ผลกระทบของการวิ่งต่อการมีสุขภาวะที่ดี การรับรู้ และการทำงานของสมอง โดยมีขั้นตอนการวัดคลื่นสมองได้อย่างแม่นยำ ในการศึกษาของพวกเขา ทั้งสองมีความสนใจเป็นพิเศษต่อสิ่งที่เรียกว่า สัญญาณรบกวนของระบบประสาทในสมองทั้งก่อนและหลังการวิ่ง
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า กีฬาเกือบทั้งหมดส่งผลให้การทำงานของสมองสงบลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาแอโรบิกที่ต้องใช้ออกซิเจนสูง ซึ่งกระตุ้นระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการทำงานของปอด นักกีฬาสมัครเล่นหลายคนได้แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการวิ่งจ็อกกิงที่ส่งผลดีต่อสมรรถภาพทางสมอง เช่น นักวิ่งสมัครเล่น Viola Göss ที่สามารถต่อสู้กับความสับสนวุ่นวายในหัวของเธอขณะวิ่งจ็อกกิง ดังนั้นทั้ง Braunsmann และ Abeln จึงมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับกีฬาประเภทนี้เพื่อหยุดภาพในหัว
ในส่วนหนึ่งของการค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่าที่จริงแล้วสมองจะปิดการทำงานหลังจากการวิ่ง สิ่งนี้จะเพิ่มการทำงานของคลื่นสมองที่ค่อนข้างช้า และสิ่งเร้าที่ไม่จำเป็นจะถูกประมวลผลโดยสมองน้อยลง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการวิ่งจ็อกกิงจึงผ่อนคลายจิตใจและช่วยให้สมองปลอดโปร่ง
ดังนั้นหากคุณใช้ความคิดหนัก ๆ มา การออกไปวิ่งจ็อกกิงจะทำให้คุณมีสมาธิกับงานได้ดีขึ้น รับมือกับงานใหม่ ๆ ได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 🙂
Links to related Sites: - Word of the Week: Kopfkino, germanyinusa - Sport stoppt das Kopfkino, deutschlandfunkkultur - Wie Du das Kopfkino stoppen und Deine psychische Gesundheit verbessern kannst, virtualsupporttalks
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.