หากใครเคยดูการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ก็คงจะคุ้นเคยกับตุ๊กตาไล่ฝน หรือ เทะรุ เทะรุ โบซุ (てるてる坊主) กันอย่างแน่นอน ตุ๊กตาไล่ฝนเป็นตุ๊กตาขนาดเล็กที่ชาวญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ที่ชานบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ฝนตก
มารู้จักกับตุ๊กตาไล่ฝน เทะรุ เทะรุ โบซุ
คำว่า เทะรุ (照る) แปลว่า แสงแดด และ โบซุ (坊主) แปลว่า หัวโล้นหรือพระภิกษุโดยเชื่อว่าส่วนหัวของตุ๊กตาจะทำให้อากาศแจ่มใสในวันรุ่งขึ้น
แม้ว่าประเพณีนี้จะเป็นที่รู้จักกันดี แต่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงไม่แน่ใจถึงต้นกำเนิดของตุ๊กตา กลับมองว่ามันเป็นสิ่งที่พวกเขาถูกสอนให้ทำเมื่อต้องการให้วันนั้น ๆ มีสภาพอากาศที่ดี ส่วนมากจะเป็นก่อนเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ เช่น วันกีฬาสี วันพิธีการ และการเฉลิมฉลองพิเศษ ซึ่งความเชื่อที่คล้ายกันของไทยก็คงจะเป็นการปักตะไคร้เพื่อไล่ฝน
ประเพณีนี้ได้รับความนิยมในหมู่เด็ก ๆ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักรู้จักต๊กตาไล่ฝนครั้งแรกจากโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็กผ่านเพลงกล่อมเด็ก
ภายในเนื้อเพลง เทะรุ เทะรุ โบซุ มีความหมายอย่างคร่าว ๆ ว่าในวันพรุ่งนี้ขอให้อากาศแจ่มใส หากแดดออกหรือคำขอพรเป็นจริงจะให้กระดิ่งทอง เนื้อเพลงในท่อนที่สองจะให้ดื่มสาเกมากมาย และในท่อนสุดท้ายในเนื้อเพลงได้มีความหมายหลอน ๆ ว่า หากฝนตกจะตัดหัวของเธอ!!!
ตุ๊กตาไล่ฝนทำขึ้นจากกระดาษทิชชูหรือผ้าทรงสี่เหลี่ยม 2 ผืน กล่าวกันว่าตุ๊กตานี้เป็นตัวแทนส่วนศีรษะของพระภิกษุ ปกติแล้วเด็ก ๆ จะร้องเพลงขณะทำตุ๊กตา เพื่อเรียกท้องฟ้าให้สดใสในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว ตุ๊กตาไล่ฝนจะยังไม่ถูกวาดหน้าลงไป แล้วแขวนไว้นอกหน้าต่างเพื่อไล่ฝน ในวันรุ่งขึ้นหากอากาศแจ่มใส จึงค่อยวาดหน้ายิ้มลงไปเพื่อเป็นการขอบคุณ หรือบางธรรมเนียมจะแขวนกระดิ่งทองหรือเทสาเกเพื่อเป็นการขอบคุณตุ๊กตาไล่ฝน แต่ถ้าฝนยังตกอยู่ก็ให้นำตุ๊กตาไปทิ้ง
ประวัติศาสตร์น่าเศร้าเบื้องหลังตุ๊กตาไล่ฝน
ในปี 800 พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นรูปหนึ่งได้รับคำสั่งจากจักรพรรดิในเมืองชินเซ็นเอ็น เกียวโต ให้สร้างฝน หลังจากนั้น พระมากกว่า 20 รูปได้จัดพิธีกรรมนี้จนถึงเวลาบ่ายโมง ในบรรดาพระภิกษุทั้งหมดที่ลองทำพิธีกรรมนี้ มีพระรูปหนึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญ แม้กระทั่งได้รับฉายาว่า “ปรมาจารย์ผู้สร้างฝน” มีแม้กระทั่งตำนานที่ว่ามังกรแดงปรากฏตัวขึ้นในขณะที่เขาสร้างฝนในชินเซ็นเอ็น
ถ้าพระภิกษุควบคุมฝนไม่ได้ ก็จะถูกตัดศีรษะขาด เป็นที่เล่าขานกันว่าในสมัยก่อนชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากมีฝนตกทำลายพืชผลนานต่อเนื่อง เหล่าชาวบ้านขอให้พระหยุดฝนให้แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้พระถูกลงโทษด้วยการตัดถูกศีรษะและห่อไว้ด้วยผ้าสีขาว แล้วนำไปแขวนเพื่อขอพรให้อากาศดีในวันรุ่งขึ้น!
เทะรุเทะรุโบซุ ตำนานจากจีนสู่ญี่ปุ่น
ประเพณีเทะรุเทะรุโบซุ มีต้นกำเนิดและดัดแปลงมาจากประเทศจีนในสมัยเฮอัน (794-1185) เป็นเรื่องราวของ เซ่าฉิงเหนียง (掃晴娘) หญิงสาวปัดกวาด โดยคำว่า เซ่า (掃) แปลว่า กวาด ฉิง (晴) แปลว่า แดด และเหนียง (娘) แปลว่า ผู้หญิง
วันหนึ่งมีฝนตกหนักนานต่อเนื่องจนอาจเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ หญิงสาวได้ยินเสียงจากสวรรค์ว่า ให้ตนเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องเมือง ทำให้เธอตัดสินใจเสียสละตนเอง และมุ่งหน้าสู่สวรรค์พร้อมไม้กวาดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปัดกวาดเมฆฝนบนท้องฟ้าให้หมดไป ต่อมาผู้คนร่วมรำลึกถึงเธอด้วยการตัดกระดาษเป็นรูปผู้หญิงและแขวนไว้นอกบ้านเพื่อขอพรขอให้อากาศดีและมีวันที่สดใส
ในหนังสือ ตี้จิงจิ่งหวู่เลี่ย (帝京景物略) จากราชวงศ์หมิงได้เขียนบอกเล่าว่า เมื่อใดก็ตามที่ฝนตกเป็นเวลานาน ผู้คนก็ตัดกระดาษเป็นรูปร่างเหมือนผู้หญิงถือไม้กวาดแขวนไว้ที่ชายคาหน้าต่าง โดยที่หัวทำจากกระดาษสีขาว ส่วนลำตัวทำจากกระดาษสีเขียวและสีแดง นอกจากนี้ในหนังสือ ไกอวี๋ฉงเข่า (陔余丛 考) จากราชวงศ์ชิงยังกล่าวว่าในฤดูฝนผู้คนจะตัดกระดาษรูปผู้หญิงถือไม้กวาดเพื่อขอพรให้ได้รับแสงแดด
Links to related Sites: - What is Teru Teru Bozu? The tragic history behind the Japanese fine weather doll, soranews24 - Japanese Traditions: Teru Teru Bozu, savvytokyo - Shine Shine Monk, chinesemythologypodcast - Teru Teru Bozu, the Japanese Rain Charm, kokoro-jp
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.