Fernweh [‘fɛrnveː:] ความโหยหาที่จะไปที่ไหนสักแห่งที่ห่างไกล คำ ๆ นี้มีความหมายเศร้าแฝงอยู่ ที่ไหนก็ได้ ไม่ได้กำหนดสถานที่ตายตัว มันแค่หมายความว่าคุณอยากไปที่อื่นสักพัก 

ความหมายของ Fernweh

คำว่า Fernweh ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1835 มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า Heimweh (คิดถึงบ้าน) และยังมีนักวิชาการให้ความเห็นถึงคำว่า Fernweh กับ Reiselust ว่าทั้งสองคำมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะคำว่า Fernweh ไม่ใช่เรื่องของการเดินทาง แต่เป็นเรื่องของความโหยหา

นอกจากนี้คำว่า Fernweh ยังมีความหมายคล้ายกับคำว่า Wanderlust ที่เป็นความรู้สึกอยากไปเที่ยว แต่ Fernweh จะให้ความรู้สึกเศร้า ส่วน Wanderlust ให้ความหมายในแง่บวกมากกว่า

คำว่า Fernweh จึงหมายถึง การโหยหาที่จะอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ณ ขณะนั้น ความรู้สึกทุกข์ที่ไม่ได้ออกเดินทาง รู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถูกจำกัดและไม่พอใจกับชีวิตในแต่ละวัน แม้จะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม

จิตวิทยาของการเดินทาง

เรารู้สึกดีเมื่อได้ออกเดินทาง ร่างกายของคนเราหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามีความรู้สึกอยากไปเที่ยวบ่อยขึ้น

นักจิตวิทยาได้ทำการค้นคว้าด้วยหนึ่งในคำถามที่ว่า การเดินทางและการเรียนรู้ประเทศและวัฒนธรรมใหม่ ๆ ส่งผลต่อจิตใจของแต่ละคนได้อย่างไร? และนี่คือการค้นพบบางส่วนจากศึกษา :

การเดินทางทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สมองของคนเราได้รับรู้ถึงสิ่งใหม่ ๆ ต้องทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ วิธีการเดินทางใหม่ การพบเจอคนใหม่ ๆ ต้องเรียนรู้ประเพณีและกฎเกณฑ์ใหม่ ที่แตกต่างจากที่ตัวเราคุ้นเคย สิ่งนี้ทำให้สมองของเราประมวลผลที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้เราได้รับประโยชน์จากมัน

การที่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ ๆ จะเพิ่มการรับรู้ในด้านการปรับตัวและกระตุ้นความรู้สึกที่ได้รับรางวัลอีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้ฝึกการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์จากการพบเจอสิ่งใหม่ ๆ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหาออก และมีไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานได้ดีขึ้นด้วย

Fernweh เป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งหรือไม่?

นักวิจัยได้ระบุถึงยีนที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบางคนมีความโหยหาอยากออกเดินทางมากเป็นพิเศษมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ยีนรักการเดินทาง (Wanderlust-Gen) หรือที่มีชื่อจริง ๆ ว่า DRD4-7R ยีนนี้มีอิทธิพลต่อการปล่อยโดปามีนในร่างกายและเพิ่มศักยภาพให้กับลักษณะบางอย่างในกลุ่มคนที่มียีนนี้ ความกระหายในการผจญภัย ความอยากรู้อยากเห็น ความเต็มใจที่จะเสี่ยง และความกระวนกระวายใจ นักวิจัยสงสัยว่าประมาณ 20% ของประชากรมียีนนี้ แน่นอนว่ายังมีทฤษฎีอื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับความอยากเดินทางและความวิตกกังวลก่อนการเดินทาง รวมถึงจากนักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาด้วย

เมื่อความอยากท่องเที่ยวตลอดเวลากลายเป็นปัญหา

ดร. Michael Brein นักจิตวิทยาสังคมกล่าวว่า ความปรารถนาในวันหยุดกลายเป็นสิ่งเสพติดได้เช่นกัน การค้นหาว่าการเสพติดการเดินทางมาจากไหนนั้นซับซ้อน นักจิตวิทยา ดร. Hanne Horvath มองเห็นเหตุผลหนึ่ง เช่น เกิดจากความเครียดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญ นอกจากนี้ยังเกิดจากการเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ความเครียดที่เกิดขึ้นนี้สามารถนำไปสู่ความเหนื่อยล้า การนอนหลับที่ผิดปกติ และการขาดแรงจูงใจในระยะยาว การพักร้อนช่วยให้เราสามารถแยกตัวออกจากความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้มีพื้นที่ให้ตัวเองและเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ในด้านที่แตกต่างจากเดิมได้

การท่องเที่ยวตามแรงกดดันทางสังคม

ในทางกลับกัน นักสังคมวิทยา Hans-Joachim Knebel พูดถึงการถูกบังคับให้เดินทางไปกับเพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก เพื่อนฝูง และสมาชิกในครอบครัวตลอดเวลา มีผู้ที่คลั่งไคล้การเดินทางระยะไกลช่วงวันหยุด ซึ่งสามารถพบได้บนโซเชียลมีเดีย และในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หลาย ๆ คนจึงต้องการที่จะรักษามาตรฐานนี้ไว้เพื่อที่จะเห็นว่าตนเองมีคุณค่า

นักวิจัยการท่องเที่ยว ดร. Kristiane Klemm จากมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Freie Universität Berlin) ได้ค้นพบสาเหตุของการเดินทางจากประสบการณ์ในชีวิตของแต่ละคนที่แตกต่างออกไป บางคนออกเดินทางเนื่องจากต้องการที่จะหลีกหนีจากความเศร้าในชีวิตประจำวัน และอยากสัมผัสกับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เช่น การเดินป่าขึ้นภูเขา การดิ่งพสุธา การผจญภัยทางธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกิจวัตรประจำวันของเรา เป็นอิสรภาพที่ได้ผ่านประสบการณ์ ความประทับใจ ผู้คน และสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ

ซึ่งหากคุณไม่สามารถอยู่บ้านได้นาน รู้สึกทุกข์ทรมานเมื่อไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจเป็นเพียงการหลีกหนีจากตัวคุณเอง

ดังนั้นลองทิ้งความกังวลในชีวิตประจำวันไว้ข้างหลัง เก็บข้าวของแล้วออกเดินทาง ก่อนที่คุณจะเริ่มคิดถึงชีวิตและกิจวัตรประจำวันของตัวเอง คุณควรได้รับความประทับใจใหม่ ๆ ก่อนที่คุณจะยุ่งจนไม่ได้ออกเดินทาง

นักวิจัยเยาวชน Philipp Ikrath มีความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เขากล่าวว่า “ความปรารถนาอันแรงกล้าของคนหนุ่มสาวชาวเยอรมันสะท้อนถึงความขัดแย้งในระดับหนึ่ง ทั้งโอกาสที่คนรุ่นใหม่มีในปัจจุบัน แต่ก็มีความกดดันจากความคาดหวังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเติมเต็มตัวเอง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคน Gen Y จึงต้องแอคทีฟตลอดเวลา ความอยากท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงสำหรับบางคน เมื่อหลังจากวันหยุด พวกเขากลับบ้าน ไปที่โต๊ะทำงานเดิม กับเพื่อนร่วมงานคนเดิม และกิจวัตรประจำวันแบบเดิม ๆ ”

การพัฒนาตนเองจากการเดินทาง

การเดินทางส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาตัวเอง การเผชิญหน้ากับคนและวัฒนธรรมที่ต่างจากตัวเราในขณะที่เดินทาง ทำให้คุณเป็นคนที่มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับวิถึชีวิตในรูปแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จากผลการศึกษาของ Zimmerman และ Neyer แสดงให้เห็นว่า การอาศัยอยู่ต่างประเทศทำให้คุณเป็นคนเปิดกว้างและมีบุคลิกภาพที่แข็งแกร่งขึ้น การปรับตัวจากความท้าทายที่ต้องเผชิญระหว่างเดินทางจะส่งผลต่ออารมณ์น้อยลง ความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันลดลง นอกจากนี้ยังมีความมั่นคงทางอารมณ์ที่ดีขึ้น อีกทั้งความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็เพิ่มขึ้นด้วย

สิ่งที่ได้รับจากการเดินทางไม่ได้มีแค่ในระหว่างและหลังการเดินทางเท่านั้น เพียงแค่ตั้งตารอหรือแค่วางแผนการเดินทางก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้ ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) แสดงให้เห็นว่าผู้คนมีความสุขที่สุดเมื่อวางแผนการเดินทาง นอกจากนี้ยังทำให้คุณมีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย

ในด้านความสัมพันธ์ก็ยังได้รับประโยชน์จากการเดินทางพักร้อนด้วยกัน การเดินทางกับคนรักจะช่วยให้คุณใกล้ชิดกันมากขึ้น และช่วยยกระดับความสัมพันธ์ ให้มีความโรแมนติกขึ้นอีกครั้ง

Links to related Sites: 

- duden.de
- Fernweh – Die Flucht vor sich selbst (Psychologie & Reisesucht), die-inkognito-philosophin
- Mehr als nur Fernweh: Wann wird die Sucht nach Urlaub zum Problem?, bildderfrau
- Fernweh - Die Sehnsucht nach dem Reisen

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *