นิทานเรื่องหนูน้อยหมวกแดง นิทานคลาสสิกที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้หญิงใส่เสื้อคลุมที่มีหมวกฮู้ดสีแดง เธอได้รับคำสั่งจากแม่ให้นำอาหารไปให้คุณยาย ขณะที่เธอกำลังเดินทางไปเยี่ยมคุณยาย เธอได้พบกับหมาป่าเจ้าเล่ห์ที่หลอกปลอมตัวเป็นคุณยาย เพื่อหลอกกินหนูน้อยหมวกแดง
หนูน้อยหมวกแดง
(Little Red Riding Hood)
ต้นกำเนิดของหนูน้อยหมวกแดง
ดร.เจมี เทรานี (Jamie Tehrani) นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ได้ศึกษาเรื่องนิทานพื้นบ้าน และค้นพบว่าหากย้อนกลับไปเกือบ 3,000 ปี นิทานเรื่อง “หนูน้อยหมวกแดง” มีหลายเวอร์ชันมาก ต้นกำเนิดของมันถูกค้นพบว่าอยู่ในยุโรป โดยเวอร์ชันแรกสุดคือ นิทานกรีก เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช โดยมีที่มาจากอีสป (Aesop)
อย่างในประเทศจีนและไต้หวันก็มีนิทานที่คล้ายกับหนูน้อยหมวกแดง ในชื่อเรื่อง “คุณยายเสือ (The Tiger Grandma)” หรือชื่อจีนคือ “虎姑婆 (หู่กูผอ)” เป็นเรื่องราวของปีศาจเสือที่ปลอมตัวเป็นคุณยายมาอยู่ดูแลเด็ก ๆ เพื่อที่จะกินเด็ก โดยที่เด็กหญิงก็ใช้วาทศิลป์หนีเอาตัวรอดมาได้ และหากย้อนไปในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1912) แนวคิดของตัวละครก็เกือบจะเหมือนกัน โดยเลือกใช้ตัวร้ายเป็นเสือแทนที่จะเป็นหมาป่า
หนูน้อยหมวกแดงเวอร์ชันอิตาลี
“La Finta Nonna”
นอกจากนี้ในศตวรรษที่ 10 ยังได้มีการส่งต่อเรื่องราวไปยังอิตาลีจึงมีการสร้างเรื่องราวที่คล้ายกันนี้ขึ้นมาในชื่อเรื่อง “La Finta Nonna” ที่เขียนโดย อิตาโล คัลวิโน (Italo Calvino) รวมอยู่ในคอลเลคชันนิทานพื้นบ้านของอิตาลี โดยมีการใช้ตัวละครของโอเกอร์ (ogre) เข้ามาแทนหมาป่าที่ปลอมตัวเป็นคุณยาย หนูน้อยหมวกแดงถูกหลอกให้รับประทานคุณยายของเธอ โดยเข้าใจผิดว่าฟันของยายเป็นข้าว เนื้อเป็นสเต็ก และเลือดเป็นไวน์ จากนั้นก็กระโดดขึ้นเตียงพร้อมกับสัตว์ร้าย และจบลงด้วยการถูกกิน นอกจากนี้บางเวอร์ชันยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ผิดกฏหมายและผิดศีลธรรมอย่างฉากที่หมาป่าบอกให้หนูน้อยหมวกแดงถอดเสื้อผ้าแล้วโยนเสื้อเข้าไปในกองไฟ
หนูน้อยหมวกแดงเวอร์ชันฝรั่งเศส
“Le Petit Chaperon Rouge”
ต่อมานักคติชนวิทยาชาวฝรั่งเศส และนักเขียน ชาร์ล แปโร ได้เล่าเรื่องราวในชื่อเรื่อง “Le Petit Chaperon Rouge” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1697 โดยในเวอร์ชันนี้มีเนื้อหาที่หม่น ๆ มีความหวือหวาในเรื่องทางเพศ มีเนื้อเรื่องอยู่ที่หญิงสาวที่สูญเสียความบริสุทธิ์ให้กับผู้ล่าที่เป็นผู้ชาย มีการใช้คำศัพท์อย่างคำว่าหญิงงามแทนคำว่าเด็กสาว การเปลี่ยนคำเพียงคำเดียวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าเรื่องราวในเวอร์ชั่นนี้กำลังมุ่งหน้าไปทางไหน
โดยเนื้อเรื่องย่อของหนูน้อยหมวกแดงในเวอร์ชันนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่แบ่งปันที่อยู่ของยายของเธอให้กับหมาป่า โดยหมาป่าใช้ประโยชน์จากความไร้เดียงสาของเธอโดยขอให้เธอขึ้นเตียง จากนั้นมันก็ทำร้ายและกินเธอ ซึ่งตอนจบที่ไม่มีความสุขแปโรก็ได้อธิบายในภายหลังเพื่อขจัดข้อสงสัยทางศีลธรรมว่า เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับหนุ่มสาวให้หลีกเลี่ยงคนแปลกหน้า ข้อสังเกตว่าเขาเลือกหมาป่าเป็นตัวร้ายเพราะหมาป่าเป็นสัญลักษณ์แทนคนที่มักจะล่อลวงคนอื่นด้วยความใจดีดูเหมือนไม่มีพิษภัย ไม่ได้แสดงความเกลียดชังหรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่นออกมาตรง ๆ ทำให้คนอื่นตายใจ เช่นเดียวกันกับหญิงสาวที่ไว้ใจให้หมาป่าเข้าไปในบ้านของเธอและสุดท้ายหมาป่าก็ทำร้ายเธอจนถึงชีวิต
หนูน้อยหมวกแดงเวอร์ชันของสองพี่น้องตระกูลกริมม์
“Rotkäppchen”
เช่นเดียวกับสองพี่น้องตระกูลกริมม์ที่ได้นำนิทานหนูน้อยหมวกแดงของแปโรมาร้อยเรียงขึ้นมาใหม่ในปี 1812 และได้สร้างชื่อเรื่อง “Rotkäppchen” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่หนูน้อยหมวกแดงมาเยี่ยมคุณยายที่กระท่อมกลางป่า หมาป่ามาพบเข้า จึงได้หลอกล่อและกินทั้งสองได้ในที่สุด จนกระทั่งนายพรานมาพบและได้ช่วยชีวิตเด็กสาวและยายของเธอออกมาจากท้องของหมาป่า แล้วใส่ก้อนหินลงไปในท้องของหมาป่าแทนจนหมาป่าตาย หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป หนูน้อยหมวกแดงและคุณยายก็ต้องเผชิญหน้ากับหมาป่าอีกตัว โดยครั้งนี้ทั้งสองได้ใช้กลยุทธ์จากประสบการณ์ก่อนหน้าที่พวกเธอมีด้วยการหลอกล่อหมาป่าด้วยกลิ่นไส้กรอกให้หมาป่าดมกลิ่นหอม ๆ จนไถลลื่นตกจากหลังคาหล่นลงไปในรางน้ำขนาดใหญ่และจมน้ำตาย ต่อมาในปี 1857 สองพี่น้องตระกูลกริมม์ได้สรุปเรื่องราวขึ้นใหม่ โดยลดทอนเนื้อหาที่โหดร้ายลง และได้กลายเป็นหนูน้อยหมวกแดงที่เราทราบกันดีในปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของหนูน้อยหมวกแดงเป็นหนึ่งในนิทานพื้นบ้านที่มีการเล่าปากต่อปากกันอย่างกว้างขวางมานานหลายร้อยปี ซึ่งนอกจากจะมีการเสริมสร้างจินตนาการให้กับเยาวชนแล้ว ยังมีการสอดแทรกศีลธรรมที่กลั่นกรองออกมาผ่านตัวละครอีกด้วย โดยมีการตีความและเล่าเรื่องใหม่ให้ทันสมัยนับไม่ถ้วน เช่นเดียวกับนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “หนูน้อยหมวกแดง” ก็คือมีจุดจบที่น่าสยดสยองมากในหลาย ๆ เวอร์ชัน เช่นเดียวกับนิทานพื้นบ้านและเทพนิยายส่วนใหญ่ โดยให้หมาป่ากินคุณยายและปลอมตัวเป็นคุณยายแทนเพื่อให้หนูน้อยหมวกแดงเข้ามาใกล้พอที่เขาจะกินเธอด้วย
Links to related Sites: - Rotkäppchen, grimmstories.com - The Dark Original Story of Little Red Riding Hood, thevintagenews.com - Little Red Riding Hood by the Brothers Grimm, childstories.org - The Original Little Red Riding Hood, historydefined.net
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.