เมื่อไม่นานมานี้เราได้มีโอกาสอ่านหนังสือ โลกนี้มันช่างยีสต์ / ช่างยุสต์ ของแทนไท ประเสริฐกุล แล้วก็หวนนึกถึงยุคไดอารี่ออนไลน์ ช่วงที่การ “อัป’ ได” กลายเป็นเรื่องที่หลายคนต้องทำเป็นกิจวัตร เว็บไซต์สมัยก่อนที่พีค ๆ อย่างเช่น storythai, diaryhub, myspace, exteen, yenta4 etc. ที่หลาย ๆ คนมักเขียนเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันแล้วแบ่งปันกันอ่าน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ไม่รู้จักเนี่ยแหละที่เข้ามาอ่านแล้วก็ให้กำลังใจกัน) น่าเสียดายที่ปัจจุบันหลาย ๆ เว็บไซต์เหล่าน้ันได้ปิดตัวลงไปแล้ว

และแม้ว่ากระแสการเขียนไดอารี่ออนไลน์จะเลือนหายไป แต่ในปัจจุบันก็ยังมีเว็บไซต์ที่ยังพอให้เราได้เขียนไดอารี่ออนไลน์ และเขียนบล็อกได้อยู่ เท่าที่เรารู้จักก็มีดังนี้ (ใครรู้จักเว็บไหนที่นอกเหนือจากนี้ก็บอกกันได้นะ)

1.Storylog

หากใครหลงใหลการเล่าเรื่องแบ่งปันให้ผู้อื่นอ่าน ต้องลองมาเขียนเล่าเรื่องในเว็บไซต์ของคนไทย ซึ่งเว็บนี้เนี่ยให้นิยามว่าตนเองเป็น “social writing platform” ที่ให้เหล่าคนชอบเขียนมาแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอมาผ่านตัวอักษรได้ฟรี ๆ ที่เว็บบล็อกแห่งนี้ โดยมีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย ไม่ต้องปรับแต่งอะไร (เน้นแต่งานเขียนไม่เน้นรูปเยอะ แค่ล็อกอินผ่านเฟซบุ๊กก็เขียนเรื่องราวของตนเองได้เลย

2.Wordpress

แต่ถ้าอยาก advance ขึ้นมาหน่อย อยากปรับแต่งหน้าเว็บบล็อกตนเองได้เยอะขึ้นถึงระดับ database หรือในอนาคตมีแพลนจะซื้อโดเมนในนามเว็บไซต์ของตนเอง แนะนำให้ใช้ wordpress ในการเขียนบล็อก จะได้เป็นการฝึกฝนการทำเว็บไซต์ไปในตัว นอกจากนี้ wordpress ยังมี template (หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ theme นั่นแหละ) ให้คุณเลือกแต่งให้หน้าเว็บสวย ๆ ได้มากมายมีทั้งแบบเสียเงินและฟรี อยู่ที่ว่าชอบแบบไหน (ซึ่งของฟรีข้อจำกัดเยอะ) เวลาจะเปลี่ยนจากเว็บบล็อกเป็นเว็บไซต์ก็ไม่ต้องเรียนรู้เยอะมาก เพราะระบบหลังบ้านก็ยังคงคล้ายเดิมอยู่ แต่จะมีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้นให้เราทำเว็บได้สนุกขึ้นนั่นเอง ซึ่งเราก็เริ่มการทำเว็บมาจากการเขียนบล็อกใน wordpress นี่แหละ

3.Tumblr

และอีกหนึ่งเว็บบล็อกที่ไม่แนะนำไม่ได้เลย เพราะเราได้เคยพูดถึงไปแล้ว tumblr เว็บบล็อกที่มีหน้าตาคล้ายทวิตเตอร์ผสมกับเฟซบุ๊กนั่นเอง ถามว่าทำไมถึงแนะนำ tumblr ก็เพราะว่า tumblr สามารถปรับแต่ง template และสร้างหน้าเว็บของตัวเองได้ด้วยระบบหลังบ้านได้เช่นกัน (แต่เฟซบุ๊กทำไม่ได้จึงไม่ได้เอ่ยถึง) ซึ่งก็มีให้เลือกมากมายทั้งฟรีและเสียเงิน โดยที่จุดเด่นของมันก็คงอยู่ที่คุณสามารถเข้าไปรีบล็อกบทความหรือภาพของคนอื่นมาไว้ที่หน้าของตัวเองได้อีกด้วย หากใครชอบที่จะเขียนก็ให้เลือก template ที่เน้นงานเขียน หรือถ้าใครชอบลงผลงาน ภาพถ่าย ภาพวาด ก็ให้เลือกธีมที่เน้นใส่ภาพโชว์ผลงานของตนเอง (ซึ่งรองรับไฟล์ภาพใหญ่ถึง 10 MB) หรืออยากอัปบล็อกแบบจับฉ่ายปน ๆ กันไปหลาย ๆ อย่างให้เป็นรูปแบบเดียวกับเฟซบุ๊กก็ย่อมได้ตามสะดวก

4.Blogger หรือ Blogspot

blogger หรือ blogspot (สมัยก่อนชื่อ blogspot แต่ต่อมาก็ถูก Google ซื้อกลายเป็น blogger.com) เป็นเว็บบล็อกฟรีที่เน้นความเรียบง่าย จากทาง google ที่ต้องการให้เหล่าคนชอบเขียนสามารถหารายได้ผ่านทางการเขียนบล็อก การเขียนเว็บลง blogger หรือ blogspot มีข้อได้เปรียบคือสามารถทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับได้ง่าย ๆ แม้ว่าคุณจะยังไม่จดโดเมนมีชื่อห้อยท้ายเป็น .blogspot ก็ตาม ยังไงคนก็เห็นแน่นอนเนื่องจากทาง google ดูแลให้ เว็บไม่มีล่มแน่นอน แต่หน้าตาของเว็บบล็อกอาจไม่ค่อยสวยงามตามที่ต้องการสักเท่าไหร่ (ทำใจไว้ก่อน) เนื่องจากปรับแต่งยากและทำไม่ได้มาก ต้องอาศัยความชำนาญด้าน code หรือ database พอสมควร

5.Bloggang

หากคุณชอบเล่นเว็บ Pantip เป็นชีวิตจิตใจ การเขียนบล็อกใน bloggang อาจจะตอบโจทย์ เนื่องจากคนที่เล่น pantip จะมีแอคเคาท์ไว้สำหรับเขียนบล็อกอยู่แล้ว ซึ่งฟรีไม่เสียเงิน อีกทั้งยังอาจจะมีโอกาสโปรโมตบล็อกผ่าน Pantip ได้ แต่เนื่องจากเว็บค่อนข้างเก่า ระบบจึงใช้งานยาก ปรับแต่งยาก หน้าเว็บอาจจะไม่สวยถูกใจเท่าไรนัก

6.WIX

wix เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างเว็บไซต์ออนไลน์สำเร็จรูปที่มีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน ที่เน้นให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบหน้าตาเว็บได้ด้วยตนเอง โดยจะเลือกสร้างเว็บไซต์ส่วนตัวในรูปแบบบล็อก, portfolio หรือ business แล้วแต่การใช้งานของคุณ ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียนเว็บก็ทำได้ หน้าตาเว็บก็ดูสวยงามทันสมัย แต่เว็บค่อนข้างอืด ต้องใช้เน็ตที่แรงพอสมควร จึงไม่ควรใส่รูปไฟล์ใหญ่จนเกินไป และควรเลือกธีมที่มีความละเอียดน้อย  

7.Medium

เว็บบล็อกฟรีที่มีบริการต่อยอดจาก Twitter เนื่องจากเป็นเจ้าของเดียวกัน เว็บบล็อก medium จะคล้าย ๆ storylog ตรงที่เน้นการเขียนเรื่องราวง่าย ๆ ไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากนัก เน้นเขียนอย่างเดียว (หรือลงรูปได้บ้างนิดหน่อย) อ่านก็ง่ายอยากอ่านของใครก็ bookmark เก็บไว้ก่อนได้ เขียนก็ง่ายสร้างบัญชีลิงก์กับทวิตเตอร์ได้เลย มีทั้งนักเขียนชาวไทยและต่างชาติ สามารถเขียนเล่าเรื่องราวไม่ว่าจะสั้นหรือยาวได้ตามใจชอบเลย

ที่จริงทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถเลือก sns ที่เหมาะกับตัวเองในการทำไดอารี่ออนไลน์ตามแบบฉบับของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเว็บบล็อกอย่างที่เราแนะนำไปในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการลงภาพแล้วเขียนเล่าเรื่องบนอินสตาแกรมในทุกวัน หรือเลือกเฟซบุ๊กแฟนเพจในการอัปเดตเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แทนที่จะเอาไว้คุยกับแฟน ๆ  เป็นต้น 

แต่ถ้าจะเอาให้คล้ายไดอารี่ยุคก่อน เห็นทีจะนึกออกเพียงแค่นี้ แล้วก็นำมาปรับแต่ง กันอีกทีตามความสามารถ พูดถึงเว็บบล็อกที่แนะนำไปแต่ละตัวก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน ส่วนตัวผู้เขียนชอบเขียนอะไรไปเรื่อย มีเว็บบล็อกหลายตัวอยู่เหมือนกัน มีทั้งที่นาน ๆ อัปเดตที และปล่อยร้างไปแล้ว(*ノ▽ノ) แต่ตอนนี้เจอที่ถูกใจแล้ว ที่จริงก็ไม่รู้จะมีทำไมเยอะแยะ ฮาาาา ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะลองเขียนเว็บไหน ลองเล่นหลาย ๆ ตัวดูก็ได้นะ แล้วสุดท้ายก็จะเหลือเว็บบล็อกที่เหมาะกับเราเอง 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *