เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสไปเรียนการทำผ้ามัดย้อมที่จัดสอนโดยศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม. ที่สนามหลวง 2 ซึ่งเป็นหลักสูตรสัญจรที่สามารถเรียนจบและเข้าใจได้ภายในวันเดียว
ที่จริงแล้วศูนย์ฝึกอาชีพหลาย ๆ แห่งทั่วกรุงเทพฯ มีหลักสูตรที่น่าสนใจมากมายให้ประชาชนได้ไปฝึกอาชีพกัน แถมที่สำคัญหลาย ๆ หลักสูตรก็ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย มีทั้งหลักสูตร 1 เดือน 2 เดือน หรือหลักสูตรสัญจรแบบนี้ที่เพียงแค่ไปลงทะเบียนและเรียนด้วยตนเองที่ศูนย์ฝึกอาชีพใกล้บ้าน
และสำหรับหลักสูตรสัญจรอย่างการทำผ้าบาติกและมัดย้อม เป็นหลักสูตรที่เรียนเพียง 1 วัน จึงไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ เพียงแค่มาลงทะเบียน พร้อมเสียค่าใช้จ่ายคนละ 50 บาท (โดยนำผ้ามาย้อมได้ไม่เกิน 5 ชิ้นต่อคน) สำหรับค่าอุปกรณ์ เพื่อที่ครูจะเก็บเงินเข้ากองกลางและหาซื้อ สี และเคมีไว้ใช้เรียนกัน เรียกได้ว่าไปแทบจะตัวเปล่า พร้อมไปรับความรู้กันได้เลย
ตอนที่เราไปถึงเราก็ไปลงทะเบียนเรียน แนะนำตัวกับครูเอ๋ผู้ทำการสอนมัดย้อม เรานำผ้า cotton 100% ไปสองตัว สำหรับเรียนมัดย้อม
วันที่เราไปเรียนมีเด็กใหม่หลายคน และมีนักเรียนไปลงทะเบียนเรียนถึง 14 คนเลยทีเดียว ครูเอ๋สอนละเอียดมาก แบบไม่กั๊กความรู้เลย ก่อนเริ่มเรียนครูก็บอกว่าวันนี้จะสอนย้อมร้อนสีเหลืองเนื่องจากใกล้วันเฉลิม โดยสีร้อนต้องย้อมพร้อมกัน แต่ถ้าอยากเรียนสีเย็นเขาก็จะสอนด้วย แล้วแต่ผู้เรียนด้วยนั่นแหละ เรากับนร.ใหม่ก็เลยตกลงว่าจะทำทั้งสองแบบเลย
วิธีเช็คผ้ามัดย้อม
ก่อนที่จะเริ่มมัดย้อมเรามาเรียนรู้วิธีเช็คเนื้อผ้ากันอย่างง่าย ๆ ก่อน จะเช็คว่าผ้าเป็น cotton แท้ 100% หรือไม่นั้นให้ใช้ปลายนิ้วบิดผ้าดูถ้าผ้าไม่เด้งกลับ ยังคงเป็นรอยหมุนเป็นอันว่าใช้ได้
หลังจากที่เช็คเนื้อผ้ากันแล้ว หากยังไม่ได้ซักเสื้อ โดยเฉพาะเป็นเสื้อที่ซื้อมาใหม่ก็ให้ไปซักด้วยผงซักฟอกแล้วตากทิ้งไว้ก่อน
ความแตกต่างของการย้อมแบบร้อนและแบบเย็น
“สีมัดย้อมแบบร้อน”
- เป็นครามสกัดธรรมชาติ
- ต้นทุนต่ำ
- สีจะหม่นตามกาลเวลา
“สีมัดย้อมแบบเย็น”
- การใช้สีเย็นและสีธรรมชาติจะได้เนื้องานที่หลากสี และมีสีสันสดใส
- สี VAT ก็เป็นสีที่ใช้ย้อมเย็น คุณภาพดี สีไม่ตก (ซึ่งสีประเภทอื่น ๆ แก้ไขได้ด้วยการลอกสี แต่สี VAT แก้ไม่ได้)
- งานกัดสีผ้า (การนำเสื้อสีดำที่ไม่ใช้ มาทำใหม่ให้เกิดลวดลาย)
นอกจากนี้ยังมีการมัดย้อมแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า ชิโบริ เป็นการย้อมเย็นเช่นกัน วิธีแบบชิโบริจะใช้การนำวัสดุเข้าไปกดทับผ้าเพื่อให้เกิดลวดลาย อย่างเช่น ไม้, ไม้ไอติม, ก้อนหิน บ้างก็เกิดจากการเนา (เนาเย็บผ้า) การมัดย้อมแบบชิโบริหากเลือกย้อมด้วยเสื้อยืดผ้าจะหนาไป แนะนำให้ใช้มัดย้อมกับกระเป๋าบาง ๆ หมอนอิง ผ้าบาง ๆ เป็นต้น
วิธีการทำมัดย้อมเย็น
อุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการมัดย้อมเย็น ได้แก่
- สีบาติก (สีเพ้นท์) ซึ่งเป็นสีย้อมเย็น
- น้ำยาโซเดียมซิลิเกต
วิธีผสมน้ำยา
1.นำน้ำยาโซเดียมซิลิเกตผสมน้ำให้ได้ความข้นเท่ากับน้ำเชื่อม โดยให้กะปริมาณเอา
2.จากนั้นพักน้ำ 1 ชั่วโมงให้น้ำยาเซ็ตตัว
3.นำผ้าไปมัดลายต่าง ๆ (เวลาทำลายเพื่อย้อมแบบเย็นห้ามยกผ้าเพื่อคล้องยาง เพราะทรงจะเสีย ยิ่งรัดหนังยางเยอะลายก็ยิ่งละเอียด)
▼ลายหินแตก (ลายสมองหมู)▼
▼ม้วนแบบแมงมุม▼
ถ้าอยากโชว์ลายจากด้านหน้าต้องพับจากด้านหลัง
ถ้าอยากโชว์ลายแค่ด้านหลังก็ให้พับจากด้านหน้า
▼แมงมุมตัวเล็ก▼
▼แมงมุมตัวใหญ่▼
▼การมัดแบบชิโบริ▼
▼การมัดแบบลายก้นหอย▼
▼ลายตามใจฉัน อิอิ▼
ที่จริงมีอีกหลายลายมาก อย่างเช่น ลายหัวใจ ลายดอกไม้ หากอยากทราบเพิ่มเติมต้องลองไปเรียนกับครูเอ๋ที่ศูนย์ฝึกอาชีพกันดูนะ
4.ฉีดฟ็อกกี้ให้ผ้าหมาด เพื่อให้น้ำยาโซเดียมเจือจาง
5.บิดน้ำบนผ้าออก แล้วนำขึ้นมาวางพักไว้บนตะแกรง ทิ้งไว้ให้ผ้าหมาด แล้วทำการหยดสี
วิธีผสมสี
สี 10 กรัม ผสมกับน้ำ 200 มิลลิลิตร (น้ำก๊อกปกติเลย)
หมายเหตุ
- ยกเว้น “สีส้ม” ที่ต้องชงด้วยน้ำร้อนให้น้ำละลายเพราะเปอร์เซ็นต์ของสีเยอะ แต่สีอื่นน้ำปกติได้จ้า
- ซึ่งหากพบว่าสีเสียเป็นวุ้นเป็นเมือกไม่ต้องนำมาใช้นะ
- สีจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน
- สีน้ำเงินสดจะมีราคาแพงที่สุดในบรรดาสีทั้งหมด ราคาอยู่ที่ 1,500 – 2,000 บาท (บางร้านก็ 3,000 บาทเลยล่ะ)
- สีบางสีก็ผสมเองได้เพราะถ้าไปซื้อคือแพงมาก อย่างเช่น สีเขียวมรกต
การลงสีย้อมเย็น
เทคนิคการลงสีแบบย้อมเย็นมีหลายแบบ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่นักเรียนอย่างเรารอคอย ฮาาาา
เริ่มต้นด้วยสีครามธรรมชาติใครอยากทำสีนี้ก็ต้องมาทำก่อนเลย ก่อนที่ครูเอ๋จะเริ่มสอนการหยดสีแบบอื่นต่อ
▼เทคนิคการตบสี▼
▼หยอดสีเป็นวงกลม จากการมัดแบบลายแมงมุม▼
▼หยอดสีแบบแบ่งเค้ก▼
หลังจากย้อมผ้าเสร็จแล้วเรามาดูวิธีซักผ้าย้อมเย็นกัน
วิธีซักผ้าหลังจากการย้อมเย็น
- ทิ้งเสื้อยืดเอาไว้ 5 – 6 ชั่วโมง เพื่อให้สีเข้มขึ้น หากเป็นผ้าเนื้อบางเบาให้ทิ้งไว้เพียง 1 – 2 ชั่วโมงก็พอ
- ห้ามแกะลายที่มัดหนังยางไว้ออกเด็ดขาด ให้เอาน้ำส้มสายชูราดทีเดียวแล้วล้างน้ำออกเลย (แต่ถ้ายังลื่นก็ให้เอาน้ำส้มสายชูราดอีกได้)
- ล้างจนน้ำใสแล้วค่อยแกะลาย ซักผ้าได้ตามปกติ (ใช้ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มได้)
วิธีการทำมัดย้อมร้อน
อุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการมัดย้อมร้อน ได้แก่
- สีสำหรับย้อมร้อน
- เกลือ
วิธีทำ
ก่อนอื่นนำผ้าไปแช่ในโซเดียมซิลิเกตเช่นเดียวกับการย้อมเย็นที่เราได้บอกไปในข้างต้นก่อน แล้วจึงเริ่มย้อมร้อนกัน โดยการย้อมแบบร้อนจะนำเสื้อทุกตัวลงหม้อพร้อมกันไปเลย วิธีทำจะง่ายกว่าการย้อมแบบเย็น
1.ใส่เกลือลงไปในน้ำร้อนที่ต้มเดือด ให้น้ำท่วมผ้า
2.นำเสื้อไปล้างน้ำเปล่า
3.ใส่สี 20 กรัม ถ้าเสื้อไม่เกิน 3 ตัวก็ให้ใช้สี 15 กรัม
4.ให้พลิกผ้าที่อยู่ในหม้อเดือดไปมาจนน้ำเริ่มใส (ประมาณครึ่งชั่วโมง)
5.พอน้ำใสแล้วก็พอ คีบผ้าขึ้นมาให้ผ้าน๊อกน้ำ แล้วนำขึ้นมาล้างน้ำเปล่า
หมายเหตุ
ส่วนไหนที่อยากให้สีเข้มก็เพิ่มสีลงไปในหม้ออีกครั้ง แล้วนำผ้ามาจุ่มซ้ำ ก็จะได้ผ้าสวยแบบไล่ระดับ
ที่นี่มีการสอนเทคนิคมัดย้อมหลายรูปแบบ แต่ต้องคอยติดตามในเพจเฟซบุ๊ก @bkklearn ของศูนย์ฝึกอาชีพและเพจ @tiedyethailand01 ของครูเอ๋ (ครูผู้สอนมัดย้อม) ว่าในแต่ละอาทิตย์จะสอนย้อมผ้าแบบไหน บ้างก็สอนการย้อมเย็น ย้อมร้อน งานกัดสี การย้อมสีธรรมชาติจากพืชครั่ง สีเปลือกมะพร้าวอ่อน การทำลายต่าง ๆ ฯลฯ
ความประทับใจในการได้มาลองเรียนที่ศูนย์ฝึกอาชีพครั้งแรก
นอกจากครูเอ๋จะใจดี สอนละเอียดให้นร.เข้าใจง่ายและให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้ลองลงมือทำเองทุกขั้นตอน เรียนจริง เป็นจริง สามารถนำไปใช้ได้จริงอีกด้วย รวมถึงเพื่อนร่วมคลาสไม่ว่าจะเป็นพี่ น้า ป้า ลุง ที่เรียนด้วยกัน คุยเล่นกัน ช่วยเหลือกันทำผ้ามัดย้อม ทำให้บรรยากาศการเรียนสนุกอีกด้วย เป็นการเรียนแม้แค่วันเดียวแต่ก็สนุกมาก ๆ หรือใครที่ไม่เข้าใจ หรืออยากได้เทคนิคใหม่ ๆ ก็มาเรียนรู้ได้ตลอด
อย่างคุณป้าวัยเกษียณที่เราได้คุยด้วยนั้นแกก็เล่าว่าแกมาเรียนมัดย้อมที่นี่เกือบทุกอาทิตย์เลย เพราะอยู่บ้านเบื่อ ๆ มาที่นี่ได้มาเรียนมาคุยกับเพื่อน ๆ หรือแม้แต่พี่สาวที่เรียนคอร์สเดียวกัน เดินทางมาจากบางนาเพื่อมายังสนามหลวง 2 พี่มีความตั้งใจที่สุดมาก หรือแม้แต่คุณลุงผู้ชายนักเรียนใหม่ และคุณน้าที่คอยช่วยเหลือกันตลอดตอนที่เรียน ประทับใจจริง ๆ
เรื่องประทับใจยังไม่หมดแค่นั้น ถุงผ้าใบนี้เราได้มาเนื่องจากครูเอ๋ให้พี่นักเรียนเก่าพานักเรียนใหม่ไปดูร้านเสื้อผ้ามือสองราคาถูกมาทำผ้ามัดย้อม และเราได้กระเป๋าใบนี้มาในราคา 20 บาท
และนี่คือผลงานของเราฉบับสมบูรณ์ กระเป๋าและเสื้อสีเหลืองจากการมัดย้อมแบบร้อน และเสื้อสีครามจากการมัดย้อมแบบเย็น ถ้าว่าง ๆ มีโอกาสไว้จะแวะไปเรียนอีกแน่นอน 🙂
หากใครที่กำลังมองหากิจกรรมทำในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ที่นอกจากจะได้ความรู้แล้วยังนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ ก็ลองมาฝึกการทำผ้ามัดย้อมกันได้ที่ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. สนามหลวง 2 ตรงศูนย์อาหารโซน 3 กันได้เลย ซึ่งนอกจากมีการสอนผ้าบาติกและมัดย้อมที่เป็นหลักสูตรสัญจร (เรียนวันเดียวจบ) แบบนี้ ยังมีวิชาเพ้นท์เล็บ และวิชาแปรรูปสมุนไพรเทียนแฟนซีด้วยนะ เปิดสอนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 9.00 น. – 15.00 น. เช่นกันจ้า
ปล.ใครนำรถมาจอดที่สนามหลวง 2 ทั้งวันอย่าลืมบอกเจ้าหน้าที่ที่แลกบัตรนะ เขาจะมีบัตรพิเศษให้อีกใบ ตอนที่แลกบัตรคืนเสียแค่ 100 บาทเอง (เราไม่รู้ก็แลกบัตรปกติ ลืมไปเลยเสียเงินไปตั้ง 250 บาท แพงกว่าค่าเรียนอีก)
I like to stay at home, writing random stuff and watching series. I enjoy learning new things and exploring new ideas.