***เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของเราเท่านั้น*** 

เราสัญญากับตัวเองว่าถ้าสอบภาษาเยอรมันในระดับ B2 ผ่าน จะมาเขียนบล็อกนี้บอกเล่าให้ทุกคนฟัง ได้เตรียมตัวให้พร้อมกับการสอบวัดระดับภาษาเยอรมันของตัวเอง

สำหรับเราที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันในการทำงาน ไม่ได้เรียนที่สถาบัน การสอบภาษาเยอรมันระดับ B2 นี่แหละยุ่งยากมากที่สุด ทั้งเสียเวลา (จากการต้องเดินทางไปจ่ายเงินสมัครสอบ) และเสียค่าใช้จ่ายเยอะ 9,500 และ 9,200 ในการสอบแต่ละครั้ง สำหรับเราที่เป็นบุคคลทั่วไป T T 

เราสอบภาษาเยอรมันในระดับ B2 มาทั้งหมด 5 ครั้ง ไม่รวมไปสายเข้าสอบไม่ทันอีก 1 ครั้ง (ฝนตก รถติด และดันเป็นการจัดการสอบที่ตึกนอก ซึ่งบุคคลทั่วไปอย่างเราไม่เคยไป หาตึกไม่เจอ) เราสอบภาษาเยอรมันสลับกับ ielts เรียกได้ว่าสอบยาวมาตลอดทั้งปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 – ตุลาคม 2018

เราเคยเรียนพิเศษภาษาเยอรมันตัวต่อตัว (พี่เค้าสอนดีมาก) แต่ทำไมถึงยังไม่ผ่านสักที เราว่าบางทีมันก็คงมีปัญหาที่ตัวเราเอง แม้ว่าเราจะลาออกจากงานเพื่อมาเตรียมตัวสอบแล้วมันก็ยังไม่เห็นผลสักที เราก็เลยหยุดเรียน แล้วทิ้งช่วงลองอ่านเอง (ประมาณ 5 เดือน) ระหว่างนี้ก็เสริมทักษะด้านอื่น ๆ เพิ่มไปเรื่อย ๆ ในสิ่งที่คิดว่ายังขาด อย่างเช่น ดูคลิปฝึกภาษาบ่อยขึ้น ฝึกอ่านนิตยสารเยอรมันบ่อย ๆ จนครั้งสุดท้ายที่รู้ว่าสอบผ่านดีใจมากเลยจริง ๆ 

พูดถึงการสอบภาษาเยอรมันในระดับ B2 จะแบ่งคะแนนออกเป็น ส่วนของ schriftlich (อ่าน ฟัง เขียน) สอบช่วงเช้า และ mündlich (พูด) สอบช่วงบ่าย โดยที่คะแนนของ schriftlich 3 พาร์ทรวมกันต้องได้ 45 คะแนนขึ้นไป และคะแนน mündlich ต้องได้ 15 คะแนนขึ้นไป ทุกพาร์ทมีคะแนนเต็มพาร์ทละ 25 คะแนน

หากคะแนนส่วนใดส่วนหนึ่งผ่าน ก็สามารถเก็บคะแนนไว้ได้ 1 ปี เพื่อสอบอีกส่วนหนึ่งให้ผ่าน (หากสอบที่ไทยก็เก็บคะแนนได้แค่สนามสอบในไทยเท่านั้น) แล้วนำคะแนนมารวมกัน หากสอบไม่ผ่าน (nicht bestanden) จะไม่ได้รับใบคะแนน แต่สามารถขอรับใบยืนยันการเข้าสอบได้ หรือไม่ก็มาจ่ายเงินเพื่อสอบรอบใหม่

Lesen

แบ่งออกเป็น 4 ส่วน (ข้อละ 1 คะแนน)

  • ส่วนแรก จับคู่โจทย์กับคำตอบ 5 ข้อ อย่างเช่น ให้เลือกหนังสือแต่ละแนวที่เหมาะกับโจทย์แต่ละข้อ ให้สังเกตที่คีย์เวิร์ดของทั้งคำถามและคำตอบ หากข้อไหนไม่มีคำตอบที่ตรงก็กากบาทตรงช่อง negative
  • ส่วนที่สอง อ่านบทความแล้วตอบคำถาม 5 ข้อ 
  • ส่วนที่สาม อ่านแล้ววิเคราะห์ว่าผู้เขียนคิดอย่างไรถ้าผู้เขียนเห็นด้วยก็ตอบ a ถ้าผู้เขียนไม่เห็นด้วยก็ตอบ b มี 5 ข้อ ข้อควรระวังคือ ให้ระวังว่าเราจะเอาความคิดของเราไปแทนผู้เขียน ระลึกไว้เสมอว่าให้เลือกตอบจากความคิดของผู้เขียนเท่านั้น
  • ส่วนที่สี่ ให้อ่านเนื้อเรื่องแล้วเติมคำมี 10 ข้อ อธิบายง่าย ๆ คือ เติมคำในช่องว่าง โดยจะเว้นว่างระหว่างเนื้อเรื่องไว้ให้เราเติม 

Hören 

แบ่งออกเป็น 2 ส่วน (ส่วนหน้าข้อละ 2 คะแนน , ส่วนหลังข้อละ 1.5 คะแนน) 

  • ส่วนหน้า เติมคำในช่องว่าง 5 ข้อ ฟังรอบเดียว
  • ส่วนหลัง มี 10 ข้อ ฟัง 2 รอบ รอบแรก ฟังยาว ๆ รวดเดียวจบ ฟังไม่ทันไม่ต้องตกใจ รอบที่ 2 จะแบ่งช่วงการฟังเป็นช่วงละ 3-4 ข้อ

Schreiben 

มี 2 ส่วน (ส่วนหลัง ข้อละ 1 คะแนน)

  • ส่วนหน้า มี Thema มาให้เลือก 2 เรื่อง เลือกเรื่องไหนก็บอกคนคุมสอบไป เขียนให้ได้ 180 คำขึ้นไป อย่าลืมกากบาทในข้อสอบด้วยว่าเลือก Thema ไหน เราเคยพลาดมาแล้ว คะแนนหายไปกับสายลมเลย โทรไปถามวันที่คะแนนออก คนตรวจฝากบอกว่า เพราะเราไม่ได้กากบาทหัวข้อว่าเลือกหัวข้อไหน เค้าก็เลยไม่ตรวจให้ T^T
  • ส่วนหลัง แก้แกรมม่า 10 ข้อ อย่าลืมทำนะ!!

Sprechen

แบ่งเป็น 2 ส่วน เตรียมตัวก่อน 3-4 นาที จากนั้นพูดพาร์ทละ 6-7 นาที 

  • ส่วนแรก มีรูป 3 รูป ให้ถกกันเองกับคู่ของเรา เราก็ใส่เหตุผลของเราไปเยอะ ๆ ว่าทำไมเราอยากเลือกรูปนี้ แล้วสุดท้ายก็ตกลงกันว่าจะเลือกรูปไหน (ถ้าไม่มีคู่ก็จะต้องถกกับผู้คุมสอบ)
  • ส่วนหลัง มีบทความสั้น ๆ มาให้ ให้เราพูดตามที่โจทย์ต้องการ อย่างเช่น บทความนี้เกี่ยวกับอะไร เรามีความคิดเห็นอย่างไร ฯลฯ 

นอกจากการเตรียมตัวฝึกฝนทำข้อสอบเก่าอย่างสม่ำเสมอแล้ว อย่าลืมฝึกอ่านนิตยสารภาษาเยอรมัน ฝึกฟังคลิปจากยูทูป (easy german, galileo usw.) เปิดช่องภาษาเยอรมันทิ้งไว้ ช่อง dw790  ฝึกอ่านออกเสียง ฝึกเขียนบ่อย ๆ หรือพูดภาษาเยอรมันคนเดียวในทุก ๆ วัน การอยู่กับมันบ่อย ๆ จะทำให้เราคุ้นเคย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราในที่สุด

สำหรับใครที่กำลังจะไปสอบวัดระดับภาษาเยอรมัน ไม่ว่าจะระดับไหน ก็ขอให้โชคดี สอบผ่าน สมหวังกันทุกคนน้า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *